วัดใจฟื้น Travel Bubble รัฐบาลเจรจานำร่อง 2 ประเทศปลายก.พ.นี้

07 ก.พ. 2565 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 23:13 น.

โฆษกรัฐบาล รับเตรียมหารือแนวทางการจัด Travel Bubble หรือจับคู่ประเทศเดินทางเพิ่มเติม กระตุ้นการท่องเที่ยวฟื้นตัว ล่าสุดรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กำลังหารือ 2 ประเทศ คาดปลายเดือนก.พ.นี้ได้ข้อสรุป

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ล่าสุดได้เตรียมการหารือเพื่อจัด Travel Bubble หรือการจับคู่ประเทศเดินทาง กับประเทศที่มีศักยภาพใช้เป็นกลยุทธ์ทางการท่องเที่ยวควบคู่กับการเดินทางท่องเที่ยวโดยทั่วไป

โดยอยู่ระหว่างการประสานงานและหารือร่วมกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวร่วมกัน ล่าสุดจะมีการพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน รวมไปถึงการพิจารณาร่วมกับทางการมาเลเซีย ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ แนวทางการจัด Travel Bubble เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวตามพื้นที่ที่กำหนด เน้นการควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งผู้ที่เดินทางภายใต้ Travel Bubble สามารถเดินทางภายใน Bubble ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องถูกกักตัว

 

ทั้งนี้จะทำเป็นข้อตกลงร่วมกันในลักษณะทวิภาคี (Bilateral Agreement) เพื่อกำหนดจำนวนคนที่จะอนุญาตให้เดินทางแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งการจัดการพิเศษ (Special Protocols) ได้แก่ การขอวีซ่า การโดยสารเครื่องบิน ที่พัก การเยี่ยมเยือน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และผู้รับประกัน 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าภายหลังมีการปรับนโยบาย เปิดรับนักท่องเที่ยวให้สามารถใช้ระบบ Test & Go ได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ซึ่งส่งผลให้ยอดการลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass เพิ่มขึ้นภายในวันแรกรวมแล้วกว่า 35,046 ราย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า ยอดรวมการลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงกว่า 6 หมื่นราย 

 

โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ. - มี.ค. ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมที่สามารถแบ่งแยกตามกลุ่มประเทศได้เป็น กลุ่มประเทศยุโรป 73.9% กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก 10.3% และกลุ่มประเทศอื่น ๆ 15.8% (สถิติข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1-30 มกราคม 2565) สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดยุโรปและเอเชียตะวันออกที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นโดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย 

 

อย่างไรก็ดี ขอให้เข้มงวด เคร่งครัด ไม่ประมาทจนอาจส่งผลถึงมาตรการควบคุมทางสาธารณสุข รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขโดยพร้อมเพรียง ทั้งการยึดหลัก D-M-H-T-T D (เว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ , ตรวจวัดอุณหภูมิ และสแกนแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง) ตามมาตรการ Universal Prevention หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังได้เตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมและมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด รวมถึงมีการส่งเสริมแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยประจำปี 2565 “Visit Thailand Year 2022” ด้วยแนวคิด “Amazing Thailand, Amazing New Chapters” ที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สอดรับกับแนวนโยบายภายหลังการเริ่มต้นเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งจะตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว

 

“นายกฯ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวน่าสนใจจากชาวต่างชาติ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง และในเวลานี้ รัฐบาลได้สนับสนุนฟื้นฟูการท่องเที่ยวในรูปแบบท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยทางสาธารณสุข ที่ต้องใช้เป็นปัจจัยควบคู่กันดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นพื้นฐานสำคัญต่อยอดไปเพื่อการพัฒนาแนวทางเพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต”