วันที่ 25 ม.ค. 2565 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (คกก.รมต.) ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยได้นำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงอย่างยั่งยืนให้ที่ประชุมได้พิจารณา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามมาตรการดังกล่าว โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบ
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเร่งด่วนและเฉพาะหน้ามาโดยตลอด โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์มีโครงการลดราคาปุ๋ยเคมี ช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนการผลิต กระสอบละ 50 บาท นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังจัดทำโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 1 จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด
ทำการวิเคราะห์ดินเพื่อระบุความต้องการใส่ปุ๋ยตามพืชที่ต้องการให้แก่เกษตรกรและพืชแต่ละแปลง จำหน่ายและบริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ได้ในลักษณะธุรกิจบริการในท้องถิ่น ทำให้ต้นทุนการใช้ปุ๋ยลดลงร้อยละ 36.91 ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงอย่างยั่งยืนที่ได้นำเสนอนั้น ประกอบด้วย มาตรการแก้ไขปัญหาที่ครบวงจร ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย
1. สานต่อโครงการลดราคาปุ๋ยเคมีให้เกษตรกรอัตรา 50 บาทต่อกระสอบ เป้าหมายปุ๋ย 500,000 ตัน
2. สานต่อโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ระยะที่ 2 จำนวน 299 ศูนย์ ใน 58 จังหวัด ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างการของบประมาณตามกรอบแผนงานหรือโครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด – 19
ในส่วนของมาตรการระยะกลาง จะเน้นการพิจารณาส่งเสริมและทบทวนโครงการอุตสาหกรรมการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทส โดยการบูรณาการผลักดันโครงการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2519 ที่ประชุมอาเซียนมีมติพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (AIP) และต่อมาปี 2523 มีการลงนามในสัญญาข้อตกลงร่วมกันใน Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects
โดยกำหนดประเทศผู้ผลิตตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ มาเลเซียผลิตแม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จากก๊าซธรรมชาติ และไทยผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เนื่องจากไทยมีทรัพยากรแร่โพแทสที่อุดมสมบูรณ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และสำหรับระยะยาว ได้เสนอให้จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย
รวมถึง การเจรจากำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมร่วมกับประเทศมาเลเซียและจีน ในฐานะประเทศผู้ผลิตแม่ปุ๋ยหลักในภูมิภาค ทั้งนี้ ต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“มาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงอย่างยั่งยืน จะช่วยให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงเพื่อลดต้นทุนการเกษตรให้แก่เกษตกรได้แน่นอน เพราะเป็นการขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการ และมีแผนงานที่ชัดเจน ถูกจุด ซึ่งตนเองมั่นใจอย่างยิ่งว่า เกษตรกรจะมีปุ๋ยที่ราคาถูกลงแน่นอน ” นราพัฒน์ กล่าว