คนเลี้ยงหมูท้อ ตกเป็นจำเลยสังคม ทำราคาสินค้าแพงยกกระบิ

25 ม.ค. 2565 | 19:29 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 02:39 น.

คนเลี้ยงหมูท้อ ตกเป็นจำเลยสังคมทำหมูและสินค้าอื่นราคาแพง ทั้งที่ยืนราคาหมู 110 บาท 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง เผยแบกภาระล้นขายไม่คุ้มทุน ขอรัฐปล่อยกลไกตลาดทำงาน ยันค้านนำเข้าเนื้อหมูถึงที่สุด หวั่นทำเกษตรกรถอดใจเลิกอาชีพ

 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยืนราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้นจะหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิตและการบริโภคให้สอดคล้องกัน

 

ทั้งนี้ได้มุ่งเป้าหมายในการช่วยดูแลค่าครองชีพของคนไทยเป็นอันดับแรก แม้ว่าเกษตรกรจะมีภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บางฟาร์มสูงถึง 110-120 บาทต่อ กก. โดยเฉพาะต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ค่าบริหารจัดการด้านการป้องกันโรคที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องก็ตาม แต่ทุกคนเห็นถึงความเดือดร้อนของคนไทยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงมีมติร่วมกันดูแลระดับราคาไว้เช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ตายตัวเสมอไป ตัวอย่างเช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาในขณะนี้อ่อนตัวตามความต้องการของตลาดมาอยู่ที่ 104-108 บาท กก.

 

คนเลี้ยงหมูท้อ ตกเป็นจำเลยสังคม ทำราคาสินค้าแพงยกกระบิ

 

สำหรับผู้เลี้ยงหมูได้ร่วมกันรักษาระดับราคาหมูเป็นไว้ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้วในเวลานี้ และจะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะศรษฐกิจภาคครัวเรือนของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาเกษตรกรกลับตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าเป็นเหตุให้ราคาเนื้อหมูหรือสินค้าอื่น ๆ แพงขึ้นตามกัน ทั้งที่เกษตรกรขายหมูหน้าฟาร์มได้ที่ราคาเดิมมาตลอด เป็นการขายขาดให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยไม่ได้มีผลกำไรหรือเกี่ยวข้องกับราคาที่ปรับสูงขึ้นก่อนจะถึงมือผู้บริโภค จึงขอให้ความเข้าใจและความเห็นใจจากผู้บริโภค และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองที่กลไกตลาดเป็นสำคัญ ขอให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดเป็นตัวบ่งชี้ราคาสินค้าอย่างเสรี

 

 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเข้าเนื้อสุกรเพื่อเพิ่มปริมาณในประเทศว่า เกษตรกรยืนยันคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากเรื่องโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนเข้ามากระทบกับสุกรของไทย และการนำเข้าเนื้อสุกร ชิ้นส่วน รวมถึงสุกรแปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป มีความเป็นไปได้ที่ไทยต้องเปิดให้นำเข้าตลอดไป และมีโอกาสที่จะส่งเข้ามาไม่จำกัด เมื่อปริมาณมากขึ้นอย่างไร้การควบคุม จะทำให้เกษตรกรต้องรับภาระขาดทุนจากภาวะสุกรล้นตลาด ที่สำคัญเนื้อสุกรนำเข้าเหล่านี้ คือตัวการบ่อนทำลายกลไกการเลี้ยงสุกรของไทย เมื่อเกษตรกรไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ย่อมถอดใจเลิกเลี้ยงสุกรทิ้งอาชีพเดียวไป ความมั่นคงทางอาหารของประเทศต้องสั่นคลอน และต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น