“นำเข้าหมู” กับ 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องระมัดระวัง

23 ม.ค. 2565 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2565 | 18:47 น.
1.9 k

ลักขณา นิราวัลย์ นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง นำเข้าหมูกับเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาในระยะยาวมากกว่าที่คิด

 

สถานการณ์ราคาหมูแพงเป็นกระแสต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ และตามมาด้วยแนวคิดการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการ “นำเข้าหมู”  ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมากมาย   

 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คาดการณ์ทางวิชาการและเป็นหนึ่งในผู้เสนอแนวทางดังกล่าว  โดยมองว่าเพื่อบรรเทาภาวะราคาหมูแพง การนำเข้าระยะสั้น โดยการจำกัดปริมาณนำเข้า ภายใต้การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนกว่าผู้เลี้ยงในประเทศจะฟื้นตัว จะเป็นทางออกที่ช่วยให้ทั้งผู้เลี้ยงอยู่รอดและผู้บริโภคอยู่ได้  และจะนำเข้าก็ต่อเมื่อราคาหน้าฟาร์มสูงกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) รวมถึงจำกัดปริมาณนำเข้าไม่เกิน 20,000 ตันต่อเดือน

 

“นำเข้าหมู” กับ 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องระมัดระวัง

 

ขณะที่คณะอาจารย์ก็แสดงให้เห็นข้อเสียของแนวทางนี้เช่นกันโดยระบุว่า จะทำให้อุตสาหกรรมสุกรสูญเสียการผลิตของตนเอง และสูญเสียโอกาสในการกลับมาแข่งขันได้อีก เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

 

นั่นเป็นเรื่องใหญ่!! และสะท้อนให้เห็นว่า “การนำเข้า” แก้ปัญหาได้ในระยะสั้น แต่จะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาในระยะยาว จึงขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ “ต้องระมัดระวัง” อย่างที่สุด

 

“นำเข้าหมู” กับ 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องระมัดระวัง

 

อันดับแรก : ผลทางจิตวิทยา เพราะสุกรนำเข้าราคาถูกกว่าสุกรไทยมาก จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลของต่างประเทศให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง เกษตรกรไทยย่อมไม่กล้าที่จะกลับเข้าสู่ระบบ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่ยังอยู่รอดปลอดภัยในขณะนี้ จะเสียโอกาสการขายเพื่อชดเชยภาวะขาดทุนที่แล้วมา นำไปสู่การหมดกำลังใจที่จะป้องกันโรคเพื่อผลิตหมูปลอดภัยสู่ตลาด ดังนั้น ข้อเสนอที่บอกว่า จะให้นำเข้าจนกว่าผู้เลี้ยงในประเทศจะฟื้นตัว จึงไม่มีอยู่จริง เพราะไม่มีวันที่เกษตรกรในประเทศจะฟื้นตัวได้ หากมีอนุญาตนำเข้าหมูเข้ามา

 

อันดับที่สอง :  เมื่อเปิดให้มีการนำเข้าแล้ว อย่าคาดหวังว่าจะสามารถจำกัดปริมาณนำเข้าได้  ลำพังที่ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตนำเข้าอย่างถูกกฏหมาย ก็ได้เห็นชิ้นส่วนหมูจากยุโรป ถูกสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่น ลักลอบเข้ามาขายปะปนอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากแล้ว หากภาครัฐยังไม่สามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ ก็นับว่าหายนะรออยู่เช่นกัน  และแม้จะบอกว่าจำกัดปริมาณนำเข้า จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันจะโปร่งใส ไร้การจ่ายใต้โต๊ะซื้อโควต้า ที่สำคัญ คู่ค้าที่เปิดตลาดไทยได้แล้ว ไม่มีทางที่จะปล่อยโอกาสหลุดลอย และจะส่งหมูเข้ามาเกินกว่าที่กำหนดเสมอ

 

อันดับที่สาม :   ข้อเสนอการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมนำเข้า เพื่อรักษาระดับราคาหมูนำเข้าไม่ให้ต่ำกว่าราคาหมูในประเทศ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อบอกว่าต้องการแก้ปัญหาราคาแพง แต่จะนำเข้ามาขายในราคาเดียวกับหมูในประเทศ น่าจะเกิดดราม่าให้ถกเถียงกันในวงกว้างอีกคำรบหนึ่ง และสุดท้ายย่อมเกิดการกดดันให้ราคาหมูนำเข้าขายในราคาต่ำกว่าผลผลิตหมูของเกษตรกรไทยอยู่ดี

 

ดังนั้น การนำเข้าหมูจึงเท่ากับทำลายกลไกการเลี้ยงสุกรในประเทศ คำกล่าวที่ว่า “สูญเสียการผลิตของไทยเรา และสูญเสียโอกาสในการกลับมาแข่งขันได้อีกเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ” จึงเป็นจริงอย่างที่สุด ซึ่งมันไม่คุ้มค่าเลยที่จะแลก  

 

วันนี้เกษตรกรร่วมมือกันตรึงราคาหน้าฟาร์มที่ 110 บาทต่อ กก. และคาดว่าจะสามารถผ่อนคลายสถานการณ์ราคาปลายทางได้ไปจนถึงตรุษจีน อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องโปรดระมัดระวังแนวคิด “การนำเข้าหมู” อย่างที่สุด เพราะมันจะทำให้เกษตรกรรายย่อย รายเล็กที่หายไปจากระบบถูกมัดตราสังข์จบเห่ ขณะที่รายกลาง รายใหญ่ก็ไม่รอด การนำเข้าหมูจึงเป็นการจุดชนวนให้อุตสาหกรรมหมูไทยล่มสลาย คนไทยต้องอาศัยพึ่งพาหมูนอกเข้ามาบริโภค...แล้วความมั่นคงทางอาหารของประเทศจะคงอยู่ได้อย่างไร?