เตือนอย่านำซากสุกรที่เป็นโรคตายไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ

17 ม.ค. 2565 | 19:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 00:36 น.

อันตราย “มนัญญา” เตือน เกษตรกร อย่านำซากสุกรที่เป็นโรคตายไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ “โรค ASF” ทนทานสามารถมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้นานซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

จากที่ประเทศไทยประกาศว่าพบเชื้อโรค ASF กรมปศุสัตว์ ระดมกำลังทั่วประเทศเน้นทำงานเชิงรุกเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ASF ไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง โดยเน้นหลักปฏิบัติสากลของระบาดวิทยาตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ประกาศให้โรค ASF เป็นโรคระบาดสัตว์ การควบคุมโรคระบาด แล้วนั้น

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรต่อการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (โรค ASF) โดยเฉพาะประเด็นความเข้าใจผิดของเกษตรกรที่นำซากสุกรที่เป็นโรคตายไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ

 

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหหรณ์ ได้ลงพื้นที่ จ.นครปฐม ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 และศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตร จ.นครปฐม กรมวิชาการเกษตร ติดตามการควบคุมการเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และเน้นย้ำบูรณาการการทำงานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

รวมถึงได้สร้างความเข้าใจต่อพี่น้องเกษตรกรไม่ให้นำซากสัตว์ตายไปทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ โดยได้เน้นย้ำถึงขั้นตอนการปฏิบัติและระเบียบ ข้อห้ามตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ และ พ.ร.บ.ปุ๋ย รวมถึงมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)

 

จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรอย่าหลงเชื่อ การนำซากสุกรที่เป็นโรคตายไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และหากพบซากสัตว์ตายผิดปกติ ให้แจ้งทางปศุสัตว์จังหวัดเข้ามาดำเนินการโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ซึ่งมีความทนทานสามารถมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้นานซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

 

--