สกพอ. ผนึก JETRO ดึงทุนญี่ปุ่นลงทุนEEC

16 ม.ค. 2565 | 14:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2565 | 22:03 น.

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น ขานรับนโยบาย BCG หนุน เจโทร – สกพอ. ลงนามความร่วมมือ ดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงกลุ่มสุขภาพ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำ และกลุ่มโลจิสติกส์ ลงทุนในEEC พร้อมดันแผนปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในประเด็นการขยายความร่วมมือในการผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของญึ่ปุ่นเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

 เพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม และเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ จึงมีความเห็นร่วมกันให้ทั้ง 2 ฝ่าย ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) 

โดยทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องในการผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เน้นด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันชักจูงการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำ และกลุ่มโลจิสติกส์

 

โดยการส่งเสริมการลงทุนจะเน้นความสำคัญของการดำเนินนโยบายและเป้าหมายของทั้งสองประเทศ ที่เน้นการเพิ่มความสำคัญด้านห่วงโซ่การผลิต และการมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และ BCG โมเดล (เศรษฐกิจชีวภาพ Bioeconomy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เศรษฐกิจสีเขียว Green Economy)

นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกัน ประเทศญี่ปุ่นเตรียมผลักดัน แนวคิด “Asia-Japan Investing for the Future Initiative” หรือ AJIF ที่เน้นการขยายการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจและการลงทุนกับภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และการพัฒนานวัตกรรมรวมทั้งการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น

 

ในขณะที่ฝ่ายไทยตอบรับนโยบายดังกล่าว ด้วยมีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG โมเดลของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งยังได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยยังคงมีนโยบายในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง และนโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทย จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในประเทศไทยได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น การหารือครั้งนี้ ประเทศไทยและญี่ปุ่น ยังได้เห็นพ้องกันในขยายความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานอัจฉริยะแห่งอนาคตอีกด้วย