มติครม.ขยายเวลาสินเชื่อเกษตรแปลงใหญ่ถึงสิ้นปี 2575

11 ม.ค. 2565 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 22:55 น.

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ วงเงินเดิม 23,000 ล้านบาทถึงสิ้นปี 2575 ปรับเงื่อนไขรองรับกลุ่มเกษตรกร

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ 11 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท กรอบวงเงินโครงการรวม 23,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ของโครงการแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (เงื่อนไขเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีขนาดพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และ/หรือมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 ราย ขึ้นอยู่กับพืชเกษตร)

พบว่า ยังมีเกษตรกรที่ต้องการขอสินเชื่อและอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง และแปลงใหญ่บางแปลงมีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อมากกว่าวงเงินที่โครงการกำหนด

ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการออกไปสิ้นสุดวันที่  31 ธันวาคม 2569 (จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมที่เหลืออยู่ และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการออกไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2575 (จากเดิมที่สิ้นสุด 30 เมษายน 2570)

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติปรับรายละเอียดโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จากเดิมที่สนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้ปรับเงื่อนไขเพื่อให้รองรับกับกลุ่มเกษตรกร ดังนี้

1.สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร ไม่เกินวงเงินกู้ที่นายทะเบียนกำหนด ใช้เกณฑ์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแบ่งตามขนาด ประเภทธุรกิจชั้นคุณภาพของสหกรณ์การเกษตรกลุ่มเกษตรกร และศักยภาพความสามารถในการชำระหนี้คืน

2.วิสาหกิจชุมชนเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มแปลงใหญ่

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร อันจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเป็นเกษตรสมัยใหม่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย