สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง หนังสือแจ้งเตือนภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ฯ

09 ม.ค. 2565 | 21:36 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2565 | 04:38 น.

“สรวิศ” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยันไม่เคยเห็นหนังสือ แจ้งเตือน ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ฯ พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พบเชื้อจากซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค สั่งตั้งกรรมสอบข้อเท็จจริง ทันที

​ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์กรณี ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 แจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว นั้น

 

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า  ขอยืนยันว่ายังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ตามหลักวิชาการและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง เร่งสั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจสอบลงพื้นที่

 

พร้อมประเมินความเสี่ยง และขอความร่วมมือเกษตรกรในการสังเกตและเฝ้าระวังโรค โดยสามารถรายงานหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอในทุกพื้นที่ หรือที่ Application: DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้สั่งการด่วนจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น โดยในวันที่ 8 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

 

โดยการเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยการเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 2 โรงฆ่ารวม 114 ตัวอย่าง เพื่อเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร นำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเมื่อทราบผลการวิเคราะห์จะรายงานผลและเร่งดำเนินการต่อไปโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุด