สิทธิการฟอกไต บัตรทอง เริ่มวันไหน หลัง สปสช.อนุมัติเป็นทางการเช็คที่นี่

08 ม.ค. 2565 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2565 | 17:11 น.
4.2 k

สิทธิการฟอกไต บัตรทอง เริ่มวันไหน หลัง สปสช. ไฟเขียวอย่างเป็นทางการเลือกล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดฟรี เช็คที่นี่

จากกรณีที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทองที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง เลือกใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้โดยไม่จ่ายเงินเอง คาดว่าจะเริ่มได้ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตกับแพทย์ โดยคํานึงถึงความจำเป็น เศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค และปัจจัยทางสังคม

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือด 24,256 ราย และมีอีก 6,546 รายที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินเอง รวมเป็น 30,802 ราย ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องมี 32,892 ราย ซึ่งต้นทุนการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดอยู่ที่ 197,700 บาท/ราย ส่วนต้นทุนการล้างไตทางหน้าท้องอยู่ที่ 227,300 บาท/ราย  ทำให้ สปสช.มีค่าใช้จ่ายการล้างไตทางหน้าท้องและฟอกเลือดประมาณ 12,271 ล้านบาท โดยงบประมาณในปี 2565 จะเป็นการใช้งบเหลือจ่าย แต่ในปีถัดๆไป จะต้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมการดำเนินการในส่วนนี้ด้วย

 

 

สิทธิบัตรทอง

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่มาข้อเสนอนี้เนื่องจากการลงพื้นที่หน่วยบริการ ได้รับฟังปัญหาจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่แพทย์เลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้อง (PD) ให้ แต่ตัวผู้ป่วยต้องการใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด (HD) จึงต้องแบกรับภาระค่าฟอกเลือดเองครั้งละ 1,500 บาท จึงนำเรื่องนี้หารือกับเลขาธิการ สปสช. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่ง สปสช. ได้ทำการศึกษารายละเอียดแล้วพบว่าสามารถทำได้ จึงนำมาสู่การเสนอความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. ในที่สุด

 

 

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักการในการพิจารณาเรื่องนี้คือการชดเชยบริการในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองเพื่อป้องกันภาวะล้มละลายทางการเงิน โดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient centered care) สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตกับแพทย์โดยคํานึงถึงเศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค ปัจจัยทางสังคม ความเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทางอ้อม (indirect cost) ที่จะเกิดขึ้นในการรับบริการด้วย ได้แก่ ค่าเดินทางในการมารับบริการที่หน่วยบริการ ตลอดจนความจําเป็นและคุณภาพบริการที่ผู้ป่วยจะได้รับ 

 

ขณะเดียวกัน นอกจากเสนอยกเลิกการชดเชยบริการในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองแล้ว สปสช. ยังเสนอให้ต่อรองราคาลดต้นทุนบริการล้างไตในทุกวิธีเพื่อลดภาระงบประมาณ เพิ่มจำนวนหน่วยบริการล้างไตและการเพิ่มบุคลากรด้านโรคไตในระบบ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมาทำการฟอกเลือดเพิ่มขึ้น มีกลไกกำกับในกรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนจากการล้างไตทางช่องท้องมาเป็นการฟอกเลือด (shift mode) เพื่อไม่ให้เพิ่มจนระบบบริการรองรับไม่ทัน ตลอดจนสนับสนุน เร่งรัด มาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่.

 

ที่มา: สปสช.