รีสอร์ทหรูหลาน‘เฮียม้อ’สะดุด ผิดสัญญาสร้างโฮมสเตย์ ฟ้องศาล‘ชี้ขาด’

05 ม.ค. 2565 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2565 | 21:30 น.
1.1 k

รีสอร์ทหรูหลาน"เฮียม้อ"ริมทะเลสมุทรสาครสะดุด กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ต่อสัญญาเช่า บนที่ดินนิคมสหกรณ์บ้านไร่ ชี้ผิดเงื่อนไขขอทำโฮมสเตย์ กลายเป็นโรงแรม 32 ห้องเพื่อการพาณิชย์ โครงการโร่ร้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวชี้ 3 ทางออกหากพิพากษายกคำร้อง

นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่ตนในฐานะผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

 

เพื่อให้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการชานเล รีสอร์ท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์บ้านไร่ หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 8-3-24 ไร่ โดยมี นายธัชพงษ์ ไกรวัตนุสสรณ์ เป็นผู้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

โครงการชานเล รีสอร์ท ที่แจ้งขอโฮมสเตย์ กลายเป็นรีสอร์ทเพื่อการพาณิชย์

รีสอร์ทหรูหลาน‘เฮียม้อ’สะดุด ผิดสัญญาสร้างโฮมสเตย์ ฟ้องศาล‘ชี้ขาด’

ผลจากการตรวจสอบศูนย์ดำรงธรรมฯ ตอบกลับมาว่าโครงการฯ ตามที่ตั้งดังกล่าว อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์บ้านไร่ จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีสัญญาเช่า 30 ปี ต่ออายุสัญญาทุก 5 ปี มีนายธัชพงษ์ ไกรวัตนุสสรณ์ เป็นผู้ขออนุญาตและเป็นผู้บริหารฯ

 

สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้รับอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พันท้ายนรสิงห์ ตามแบบที่เสนอไป และมีการติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสีย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ได้มีการรุกลํ้าพื้นที่ทางนํ้าหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

รีสอร์ทหรูหลาน‘เฮียม้อ’สะดุด ผิดสัญญาสร้างโฮมสเตย์ ฟ้องศาล‘ชี้ขาด’

ปัจจุบันโครงการฯ ไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่าจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ ตามมติของคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่เห็นควรไม่อนุญาตให้นายธัชพงษ์ ใช้ที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์บ้านไร่ จังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่วันที่หมดสัญญาอนุญาต

 

เนื่องจากเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวเพื่อการพาณิชย์ และมีรายได้จากการดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกนิคมสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดที่ดิน ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511

 

เหตุดังกล่าว นายธัชพงษ์ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 อุทธรณ์ แต่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ มีคำสั่งยกคำร้อง ยืนยันไม่ต่อสัญญาเช่า และไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ทางโครงการฯจึงยื่นเรื่องฟ้องไปยังศาลปกครอง และได้รับการคุ้มครองฯ จนถึงขณะนี้

 

ต่อกรณีการตรวจสอบว่าโครงการชานเล รีสอร์ท มีส่วนเกี่ยว ข้องกับการใช้เป็นแหล่งฟอกเงินของนักการเมืองหรือไม่นั้น ทาง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาครแจ้งว่า ทางศูนย์ฯไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ต้องยื่นเรื่องเสนอให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทำ การตรวจสอบในลำดับต่อไป

 

ด้านนายมานะ อ่อนนุ่ม สหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า ที่ดินของโครงการชานเล รีสอร์ทดังกล่าว ได้ขอเช่าใช้พื้นที่ในอัตรา 16,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยได้ชำระค่าบำรุงพื้นที่ รวม 5 ปี เป็นเงิน 590,000 บาท ตั้งแต่วันทำสัญญาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 โดยระบุ “เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์ปรับปรุงพื้นที่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต่อเนื่องโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งมีความประสงค์จะก่อสร้างโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ทางเดินวอล์คเวย์ ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต” แต่พบว่าดำเนินการผิตไปจากวัตถุประสงค์จึงไม่ต่อสัญญา ยกคำร้องอุทธรณ์ และเวลานี้เตรียมทำเอกสารชี้แจงประกอบคดี หากมีคำสั่งแจ้งให้ส่งคำให้การไปยังศาลปกครอง

 

ด้านนายมมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ หรือ เฮียม้อ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร รับว่า นายธัชพงษ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้บริหารโครงการชานเล รีสอร์ท เป็นหลานของตนและเมื่อเรื่องนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปแล้ว ก็ต้องรอคำสั่งศาลปกครองว่าจะตัดสินอย่างไร ทั้งตนเองก็มีอายุ 80 กว่าปีแล้ว จึงคิดว่าการจะทำอะไรก็ตามคงต้องพิสูจน์ และแก้ปัญหาด้วยข้อเท็จจริง อีกทั้งโครงการนี้ได้ลงทุนไปมาก ช่วยสร้างอาชีพ และเป็น การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 

อนึ่ง แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้ให้ความเห็นว่า หากทางศาลปกครองพิพากษายกคำร้อง คือยืนตามมติคณะกรรมการฯ ที่เห็นควรไม่ต่อสัญญาเช่าให้โครงการชานเล รีสอร์ท ผู้เช่ามีทางออก 3 แนวทาง คือ
    1. รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง ยกเลิกการประกอบการ และออกจากพื้นที่ดังกล่าว
    2. ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและการดำเนินการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่แจ้งไว้กับนิคมสหกรณ์บ้านไร่แต่ต้น เพื่อขอต่อสัญญาเช่าต่อ หรือ
    3. มิเช่นนั้น หากจะเลิกประกอบการโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และไม่เป็นภาระในการรื้อถอน ก็อาจทำเรื่องยกสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ให้เป็นสิทธิ์ในการครอบครองดูแลของหน่วยงานสาธารณะ หรือเป็นของหน่วยงานราชการ ที่สามารถเข้ามาดูแลได้และไม่ได้เป็นไปเพื่อการพาณิชย์

 

ทั้งนี้ นายธัชพงษ์ เป็นเครือญาติของนายอุดม ไกรวัต นุสสรณ์นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร และเป็นหลานลุงของนายมมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ หรือ เฮียม้อ อดีตนายกอบจ. อดีตส.ส.สมุทรสงครามและอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ 

 

สุรพล ระวิวงษ์/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,746 วันที่ 6-8 มกราคม พ.ศ.2565