ปักหมุด ม.ค.65 บขส.ดันศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาค โกยรายได้ 600 ล้าน

23 ธ.ค. 2564 | 21:17 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 04:25 น.

บขส.เตรียมเปิดศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาค นำร่องเดินรถ 4 แห่ง เริ่ม ม.ค.65 คาดรายได้พุ่ง 600 ล้าน ลุยเปิดพื้นที่เพิ่มบูมเขตอีอีซีหนุนขนส่งสินค้า-ผลไม้

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. เตรียมลงพื้นที่ สถานีเดินรถขอนแก่น เพื่อตรวจความพร้อมพัฒนาเป็นศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาค ตามแผนที่จะนำร่องสถานีเดินรถ 4 แห่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ลงพื้นที่สถานีเดินรถไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และนครราชสีมา จากการลงพื้นที่พบว่า ทั้ง 3 แห่งมีความพร้อมและเหมาะสม ทั้งด้านสถานีเดินรถ และ พนักงานที่ให้บริการ คาดว่าทั้ง 4 แห่งนี้จะเริ่มให้บริการได้ประมาณเดือน ม.ค.65 

 

 

 


ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทบทวนมติ ครม. เมื่อปี 2502 ที่กำหนดเพียงให้ บขส. มีหน้าที่ในการขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร และองค์การรับส่งพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ที่ได้มีการยุบเลิกไปแล้ว ทำหน้าที่ในการขนส่งสินค้า โดยจะเปลี่ยนแปลงให้ บขส. สามารถดำเนินกิจการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้ทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ จากที่ให้บริการเพียงการรับขนส่งสินค้าใต้ท้องรถโดยสารประจำทางเท่านั้น หาก ครม. เห็นชอบแล้ว บขส. สามารถดำเนินตามแผนที่รองรับให้บริการดังกล่าวทันที 
 

สำหรับแผนพัฒนาเป็นศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาคนี้ เพื่อสามารถนำมาชดเชยรายได้ในด้านการขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์มีมูลค่าทางการตลาดตั้ง 60,000 กว่าล้านบาทต่อปี ดังนั้นหาก บขส. สามารถแบ่งพื้นที่ในการทำธุรกิจนี้ได้สักประมาณ 10% จะทำให้ บขส. มีรายได้ประมาณ 600 กว่าล้านบาทต่อปี สามารถเลี้ยงธุรกิจองค์กรได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระกับรัฐบาล ที่สำคัญขอย้ำว่า ศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาคนี้ บขส. ได้ต้องการที่จะแข่งกับเอกชน แต่จะเพิ่มให้เป็นทางเลือกหนึ่งให้ประชาชน เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้สามารถรับฝากส่งพัสดุภัณฑ์แบบข้ามภาคได้  

 

 

ปักหมุด ม.ค.65 บขส.ดันศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาค โกยรายได้ 600 ล้าน


ทั้งนี้หลังจากเปิดให้บริการศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์ข้ามภาคสถานีเดินรถ 4 แห่งแล้ว บขส. มีแผนจะขยายผลนำไปใช้กับสถานีเดินรถในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น จันทบุรี ตราด ระยอง และ ชลบุรี เป็นลำดับต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดอีอีซี มีศักยภาพในการขนส่งผู้โดยสารและ ขนส่งสินค้าจำนวนมาก เช่น ผลไม้ ซึ่งทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนได้ด้วย  

อย่างไรก็ตามบขส.ได้มองพื้นที่ภาคใต้ที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน เนื่องจากการขนส่งสินค้าในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ผัก ผลไม้ เช่น สตอ รวมทั้งพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ เพชรบุรี ที่จะมีการขนส่งขนมหวานไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก ขณะนี้ บขส. ให้นโยบายนายสถานีเดินรถทุกคนไปแล้วว่า การดำเนินธุรกิจดังกล่าวนายสถานีเดินรถจะต้องทำหน้าที่เหมือนกับผู้จัดการสาขาที่ทำงานธนาคาร ที่จะต้องหาลูกค้า เพื่อหาช่องทางในการสร้างรายได้มากขึ้น และอนาคตจะขยายผลพัฒนาธุรกิจดังกล่าวให้ครอบคลุมการสถานีเดินรถ บขส. ที่มีทั้งหมด 94 แห่งต่อไป