‘อีสาน’ผนึก ‘เหนือ’  7สะพานมิตรภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค

03 ธ.ค. 2564 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 16:30 น.

หอการค้าอีสานปิ๊งไอเดียเชื่อมเหนือบูมท่องเที่ยวหลังโควิด เตรียมชงเข้ากรอ.ขอรัฐต่อ “โรแมนติกรูท” ถนนเลียบนํ้าโขง 7 จังหวัดอีสาน จากเลยขึ้นไปถึงเชียงราย ใช้ 7 สะพานมิตรภาพเปิดเส้นทางท่องเที่ยวคุณภาพใหม่ไทย-เมียนมา-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากดูแลเศรษฐกิจพื้นที่แล้ว ยังร่วมกับหอการค้า 20 จังหวัดภาคอีสาน เป็นคณะกรรมการดูแลการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเลียบลำ นํ้าโขง ซึ่งผ่าน 7 จังหวัดของภาคอีสาน ที่เรียกว่าเส้นทางโรแมนติกรูท หรือนาคีรูท

 

ทั้งนี้ต้องเตรียมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งการคลี่คลายของโควิด-19 คาดว่ากลางปี 2565 ทางการประเทศลาวจะกลับมาเปิดประเทศได้ และมีตัวขับเคลื่อนเพิ่มจากการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว เมื่อต้นเดือนธ.ค. 2564 ซึ่งในอนาคตต้องปรับสู่วิถีใหม่ ภายใต้มาตรการความปลอดภัย Next Normal New Normal อย่างเข็มแข็งเคร่งครัด

‘อีสาน’ผนึก ‘เหนือ’  7สะพานมิตรภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค

ตลอดลำน้ำโขงมีจุดท่องเที่ยวน่าสนใจที่แตกต่างหลากหลายให้เลือกสัมผัส

นายสวาทกล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวตามลำนํ้าโขงในอีสาน 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และเลย หรือแนวเส้นทางโรแมนติกรูท ได้มีการปรับปรุงเส้นทางจราจรเกือบครบทั้งเส้น นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม “แฮปปี้โมเดล” ยกระดับคุณภาพและศักยภาพการบริการ ให้นักท่องเที่ยวสามารถจับต้องได้แล้ว
    

“นอกจากท่องเที่ยบเลียบ นํ้าโขงในภาคอีสานแล้ว ทำอย่างไรจะให้เชื่อมโยงอีสานเข้ากับภาคเหนือ เพื่อให้ต่อเข้าไปถึงเมียนมาได้ด้วย ทางกรอ. (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ) จังหวัดและกลุ่มจังหวัดในอีสาน มีมติขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ต่อแนวถนนเลียบนํ้าโขงจากเลย ไปถึงภาคเหนือที่เชียงรายด้วย เพื่อให้เดินทางข้ามภาคระหว่างเหนือกับอีสานสะดวกยิ่งขึ้น ให้เกิดการท่องเที่ยวคุณภาพสูงกระจายไปทุกพื้นที่ในภูมิภาคนี้”

‘อีสาน’ผนึก ‘เหนือ’  7สะพานมิตรภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค

สะพานมิตรภาพข้ามน้ำโขงไทย-ลาวที่ก่อสสร้างเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

พร้อมกันนี้จะเกิดการเชื่อมโยง 7 สะพานมิตรภาพไทยกับเพื่อนบ้าน ที่เป็นทางเข้าออกประเทศ จะทำให้ เกิดการเชื่อมโยงไปยังเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งอาจต่อไปถึงเวียดนามได้ด้วย ประกอบด้วย 1. สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา (ข้ามนํ้าเมย ที่แม่สอด จ.ตาก) 2. สะพานเลย (ท่าลี่)-ไซยะบุรี 3. สะพานหนองคาย-เวียงจันทน์ 4.สะพาน บบึงกาฬ-บอลิคำไซ (กำลังก่อสร้าง) 5. สะพานนครพนม-คำม่วน 6. สะพานมุกดาหาร-สะหวันเขต และ 7. สะพานอุบลราชธานี (ดอนตาล)-สาละวัน (คอนพะเพ็ง) ที่อยู่ในแผนก่อสร้าง

 

นายสวาทกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด- 19 เกือบ 2 ปีมานี้ ผลกระทบเศรษฐกิจและธุรกิจทุกประเภท ให้ตกลงถึง -2% คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เห็นร่วมกันว่า ต้องสร้างแรงกระตุ้นให้ทั้งภาคกระเตื้องขึ้น ให้กลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ +3.5 % หากภาครัฐสนับสนุนและเร่งลงมือดำเนินการด่วนที่สุด เชื่อว่าจะสามารถทำได้

นางธนพร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี

ขณะที่นางธนพร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี ดูแล 3 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มนคราธานี” เปิดเผยถึงแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มอุดรนคราธานี ว่า ในปีงบประมาณ 2565 จะปรับกิจกรรมสู่เป้าหมาย BCG ทัวริสซึ่ม และแฮปปี้โมเดล ภายใต้กิจกรรมที่เน้นเรื่องของชุมชน การออกกำลังกาย การแบ่งปันความสุข ตลอดทั้งปี 2565

 

ที่อุดรธานีมีอาทิ กิจกรรมเมืองรองต้องเดินทางไปเที่ยว โครงการท่องเที่ยววิถีใหม่ หรือ โครงการท่องเที่ยวไทยไม่ตกเทรนด์ การท่องเที่ยววันธรรมดา รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่มีการเน้นการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทุกเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่

 

“อุดรธานีได้รับการยกฐานะเป็นเมืองไมซ์จากสสปน. แล้ว ผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA เพิ่มความพร้อมและศักยภาพอุดรธานี ในด้านการท่องเที่ยวไมซ์ คือ การเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ การการจัดประชุมสัมมนา แสดงนิทรรศการ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่จะเดินทางมากับรถไฟจีน-ลาว ที่เวลานี้ยังต้องรอว่าทางการลาวจะประกาศเปิดรับคนเดินทางเมื่อไหร่ ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19”
    

 

ส่วนที่บึงกาฬเปิดเพิ่มทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความเชื่อถือ และทางธรรมชาติ และเชิงผจญภัยเล็กน้อยในเขตอุทยาน ททท.สำนักงานอุดรธานี ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้มีความสอดคล้องกับมาตรการของอุทยาน และ ศบค.จังหวัด อย่างเคร่งครัด 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5-8 ธันวาคม พ.ศ.2564