นักวิชาการ เสนอรัฐบาล 6มาตรการเร่งด่วนปีหน้า

18 พ.ย. 2564 | 13:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 20:59 น.

นักวิชาการ ม.ดัง เสนอรัฐบาล 6มาตรการเร่งด่วน  สร้างความเชื่อมั่น-กระตุ้นเศรษฐกิจ  ชี้ปีหน้ามีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบยังคงต้องเฝ้าระวัง โดนเฉพาะปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้า ราคาน้ำมน ค่าบาท การแพร่ระบาดของโควิดยังไม่คลี่คลาย

นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจได้ทำเสนอที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ 6 เรื่อง คือ 1.การควบคุมการแพร่ระบาดและการเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.การเปิดดำเนินการธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนควรเปิดให้ได้ในปีหน้า เพราะจะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 5 ล้านคน 3. การดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่อง โดยการจัดหาซอฟต์โลนมาช่วยเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

4.การดูแลระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ไม่ให้หลุดในระดับ 30 บาทต่อลิตรซึ่งทางหอการค้าเชื่อว่ารัฐบาลมีมาตรการดูแลต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรดูแลไม่ให้น้ำมันทะลุ 35 บาทต่อลิตรไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น

5.การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการคนละครึ่งควรขยายวงเงินเพิ่มอีกรายละ 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 90,000 ล้านบาท โครงการช็อปดีมีคืนควรขยายระยะเวลาไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน และการผลักดันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ เร่งการใช้งบประมาณ และ 6. การวางรากฐานเพื่ออนาคต โดยการผลักดันการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้าจากจำนวนการฉีดวัคซีน ดีกว่าเป้าหมายคาดว่าจะครบ 70% ในเดือนธันวาคม 2564 และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง การประกาศเปิดประเทศและผ่อนคลายการทำธุรกิจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐเร่งตัวดีขึ้น และความเสี่ยงจากสถานการภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 มีแนวโน้มลดลง

ส่วนปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม มีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและยาวนานทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อาจใช้เวลา 5 ปีในการแก้ไขปัญหา ธนาคารกลางของประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์  ปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และความไม่แน่นอนของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่แม้ว่าจะมีการประชุมกันแต่ไม่มีการออกมาแถลงการณ์ร่วม