หยุดแชร์คลิป ไก่ไทยปลอดภัยไร้สารเร่งโต 100%

10 พ.ย. 2564 | 15:26 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 22:28 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เบรกนักเลงคีย์บอร์ด เลิกแชร์คลิป ย้ำมั่นใจไก่ไทย ปลอดภัย ระบุคลิปที่เห็นนั้นไม่ไช่เกิดในประเทศไทย

จากกรณีมีเพจใน Facebook มีการกล่าวว่า มีการฉีดสารอะนาโบลิกสเตียรอยด์ (สารสังเคราะห์จากฮอร์โมน) ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตในไก่ ส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง และมีการแชร์คลิปการฉีดยาในไก่ทางสื่อโซเชียลต่อๆ กันโดยอ้างว่าเป็นการฉีดฮอร์โมนเร่งโตนั้น

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ขอเรียนว่าเป็นข่าวลวง ไม่มีข้อมูลความจริง ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรมปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หลายครั้งแล้ว ผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและติดภาพเก่าๆ กันอยู่ คลิปที่เห็นนั้นไม่ได้เกิดในประเทศไทย

 

โดยข้อเท็จจริงในปัจจุบันการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยเป็นระบบอุตสาหกรรม ไม่มีการใช้ฮอร์โมนและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงไก่แล้ว

 

จากการเลี้ยงไก่ในปัจจุบันมีการพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานระบบการเลี้ยงและปรับปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยให้ไก่เติบโตได้ดีและมีสุขภาพแข็งแรง ประกอบด้วย การนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ไก่ให้เป็นสายพันธุ์ที่โตเร็วมีความทนทานต่อโรค การมีระบบการป้องกันโรคที่ดี การเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย มีการจัดทำฟาร์ม "มาตรฐาน GAP"

 

ระบบมาตรฐาน GAP

รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมกับช่วงวัยของการเติบโตและความต้องการของไก่ สามารถคำนวณและผสมอาหารสำเร็จรูปให้ได้สารอาหารตรงตามความต้องการของสายพันธุ์ ทำให้ไก่มีสุขภาพดีและเจริญเติบโตได้ดี

 

โดยไม่จำเป็นต้องเสริมสารเร่งโตและใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ในฟาร์มมาตรฐาน GAP ทุกฟาร์มต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มในการควบคุมกำกับดูแลในการตรวจสอบทั้งด้านสุขภาพสัตว์ ควบคุมการใช้ยา สารเคมีและการจัดการด้านอื่นๆ ในฟาร์มด้วย ทำให้มั่นใจยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะอย่างผิดวัตถุประสงค์และไม่สมเหตุสมผล เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงไก่ไทยแน่นอน 100%

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายด้านความปลอดภัยอาหาร กำหนดว่าการใช้ฮอร์โมนในไก่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และห้ามการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 417/2528 ลงวันที่ 23 ก.ย.2529 ให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ Hexoestrol ของฮอร์โมนที่ใช้ในสัตว์ปีก

 

คุมกระบวนการผลิต

 

หากมีการลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมาย และหากนับจากวันที่ประกาศจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลาเกือบ 35 ปีแล้วที่มีการใช้กฎหมายนี้ โดยผิดทั้งต่อกฎหมายของประเทศไทยและขัดต่อข้อบังคับของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญในการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ติดอันดับ TOP5 ของโลกต่อเนื่อง

มีประเทศผู้นำเข้าหลักคือ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป เนื่องจากความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าต่อสินค้าปศุสัตว์ของไทยที่มีความปลอดภัยได้คุณภาพมาตรฐานสากลและระดับโลก ปลอดจากสารตกค้าง ไม่มีการใช้ฮอร์โมนในการเร่งโต และไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลและผิดวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง ทำให้สินค้าไก่จากไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก

 

ตรวจเข้ม

 

โดยปัจจุบันปี 64 ล่าสุดเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์มีปริมาณการส่งออกแล้วรวม 746,969 ตัน คิดเป็นมูลค่า 83,920.62 ล้านบาท (ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูป 432,952 ตัน มูลค่า 58,345.08 ล้านบาท และเนื้อไก่แช่เย็น/แช่แข็ง 314,017 ตัน มูลค่า 25,575.54 ล้านบาท)

 

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์ม โรงฆ่า โรงแปรรูป และสถานที่จำหน่ายตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจและขอยืนยันว่าการเลี้ยงไก่ไทยไม่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่าง

 

ไม่สมเหตุสมผลและผิดวัตถุประสงค์แน่นอน ขอให้ทุกคนมั่นใจอย่าเชื่อข้อมูลเท็จและขอให้พิจารณาข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ และขอฝากให้ผู้บริโภคควรเลือกแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ว่าผ่านการตรวจสอบจากระบบมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยดูจากตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์และสถานที่จำหน่าย โดยให้สังเกตสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ผลิตจากโรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน สถานที่จำหน่ายถูกสุขอนามัย และสามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับได้