หมดโปรนั่งฟรี “คมนาคม” เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง 12-42 บาท

03 พ.ย. 2564 | 19:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 02:30 น.

“คมนาคม” เล็งเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง 12-42 บาท ภายในเดือนธ.ค.นี้ หลังรฟท.เปิดให้บริการทดลองนั่งฟรี 3 เดือน เร่งหารือ แบงก์กรุงไทย เตรียมนำร่องใช้ระบบตั๋วร่วมข้ามระบบ

นายศักดิ์สยาม   ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ  ว่า กระทรวงคมนาคมจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ ( Grand Opening) ภายในเดือนธันวาคม 2564 

 

 


 ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง ( Soft Opening) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร หลังจากนั้นจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2564 ปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโดที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

หมดโปรนั่งฟรี  “คมนาคม”  เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง 12-42 บาท
 

“ขณะที่รูปแบบของบัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง ใน 3 ปีแรกจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และ ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร เบื้องต้นได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณากำหนดแนวทางเพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ” 

 

 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า การดำเนินการระบบตั๋วร่วม นั้น ปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมมาตรฐาน EMV สามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry รวมทั้งเปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 

 

 

ส่วนแผนการใช้บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย ได้หารือร่วมระหว่าง รฟท. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขสมก. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดตั๋วร่วมระหว่างหน่วยงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปแนวทางร่วมกัน ทั้งรูปแบบบัตร เทคนิคบัตร และเงื่อนไขการกำหนดราคา พร้อมทั้งพิจารณาข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ การเติมเงิน จุดจำหน่ายบัตร และการแบ่งจ่ายรายได้ของ Operators

หมดโปรนั่งฟรี  “คมนาคม”  เตรียมเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง 12-42 บาท
 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ด้านการเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 12 สถานี รฟท. ได้จ้างทำความสะอาด กำจัดขยะ รักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจรทั้งบริเวณสถานีกลางบางและบริเวณสถานีอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของงานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ และงานบริหารจัดการงานอาคารและระบบวิศวกรรมประกอบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ระหว่างเผยแพร่ร่าง TOR เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ และวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างการคณะกรรมการจัดทำประกาศฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)

 

 

 

ทั้งนี้การปรับจำนวนขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รฟท.ได้มีแผนการดำเนินงานให้ปรับลดลงเหลือ 22 ขบวน เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มลดลงให้วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดในอนาคต เบื้องต้นได้สั่งการให้ รฟท. กำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน