‘อัพเกรดเต็มสูตร’ ทุ่มงบ 4,660ล้าน ‘สนามบินตรัง’

22 ต.ค. 2564 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2564 | 17:03 น.
9.0 k

 รัฐบาลบิ๊กตู่ทุ่มงบอีก  2,660 บาท เดินหน้ายกเครื่องสนามบินตรังเต็มสูตรเตรียม 860 ล้าน จ่ายซื้อ ที่ 648 ไร่ เพิ่มเขตสนามบิน และตั้งวงเงิน 1,800 ล้านบาทขยายความยาวทางรันเวย์เป็น 2,990 เมตร เสร็จ 5 มี.ค. 2568 ทุกแผนงานรวมมูลค่าตามราคากลาง 4,660 ล้าน

พ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันทางวิ่งสนามบินตรัง มี 1 ทางวิ่ง  มีความยาว 2,100 เมตร กว้าง 45 เมตร กรมท่าอากาศยานมีโครงการขยายความยาวทางวิ่งขึ้นลงเครื่องบิน เป็น 2,990 เมตร ไปทางทิศตะวันตก โดยจัดงบประมาณผูกพันปี 2564-2567 และงบประมาณซื้อที่ดินเกือบ 648 ไร่ 860 ล้านบาท

ท่าอากาศยานตรังอยู่ระหว่างการพัฒนายกระดับศักยภาพให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขยายการให้บริการนักเดินทาง

เพื่อขยายความยาวทางวิ่งเครื่องบิน ที่ดินส่วนหัวทางวิ่งนั้นจะติดตั้งเครื่องนำร่องเครื่องบิน ไฟสัญญาณต่างๆ  เพื่อความปลอดภัยของอากาศยาน อีกทั้งจะมีการปรับพื้นที่เขานุ้ยออก เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำการบิน เส้นทางรถไฟสายตรัง-กันตัง จะวิ่งใต้ทางวิ่งเครื่องบิน  ส่วนค่าเวนคืนบรรจุในแผนปีงบประมาณ 2565 แล้ว  ขณะนี้รอประกาศพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เวนคืน เพื่อนำมาจ่ายให้กับเจ้าของที่เป็นค่าที่และอาสินต่อไป

‘อัพเกรดเต็มสูตร’ ทุ่มงบ 4,660ล้าน ‘สนามบินตรัง’

‘อัพเกรดเต็มสูตร’ ทุ่มงบ 4,660ล้าน ‘สนามบินตรัง’

การขยายความยาวทางวิ่งขึ้นลงเครื่องบิน และการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายความยาวสนามบิน เป็น 2 ใน 4 แผนงานเพื่อพัฒนายกระดับท่าอากาศยานตรังให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่จากต่างประเทศได้ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินที่ได้มาตรฐานสากล ประกอบด้วย 

1. โครงการเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับและลานจอดอากาศยาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน สามารถจอดอากาศยานแบบโบอิ้ง 737 ได้ 10 ลำ ในเวลาเดียวกัน ได้ผู้รับจ้างคือ บริษัทซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด สัญญาเริ่มต้นวันที่ 1 ส.ค. 2562-30 มี.ค. 2564 วงเงิน 678 ล้านบาท จากราคา กลาง 800 ล้าน  (ขณะนี้มีการขยายสัญญาออกไป) ณ วันที่ 1 ต.ค. โครงการก้าวหน้าแล้ว 90% 

2. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสาร 1,200 คนต่อชั่วโมง (3.4 ล้านคนต่อปี ) ผู้รับจ้างบริษัท พอร์ทแอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (พี.เอ.เอ็ม) ประมูลได้ 1,070 ล้านบาท จากราคากลาง 1,200 ล้านสัญญา 26 ก.ย. 2562 - 13 มี.ค. 2565 ณ วันที่ 1 ต.ค. โครงการก้าวหน้า 30%

การขยายเขตสนามบินเพิ่มความยาาวรันเวย์ต้องทับซ้อนทางรถไฟตรัง-กันตังที่จะปรับให้เป็นทางรถใต้ใต้รันเวย์สนามบิน

‘อัพเกรดเต็มสูตร’ ทุ่มงบ 4,660ล้าน ‘สนามบินตรัง’

3. โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิมยาว 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตรกว้าง 45 เมตร ราคากลาง 1,800 ล้านบาทขณะนี้ได้ทำสัญญากับผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า เอ็นทีเอช ลงนามกับกรมท่าอากาศยาน วงเงิน 1,775,721,300 บาท สัญญางานเริ่ม 24 ก.ย. 2564 - 5 ม.ค. 2568 โดยเป็นโครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและองค์ประกอบอื่น ๆ

4. โครงการจัดซื้อที่ดินขยายสนามบิน กรมท่าอากาศยาน บรรจุแผนงานในวงเงินงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 860 ล้านบาท จัดซื้อที่ดินประมาณ 648 ไร่ เพื่อขยายรันเวย์ไปทางทิศตะวันตก ข้ามเส้นทางรถไฟสาย ตรัง-กันตัง ซึ่งที่ผ่านมาการสำรวจเรื่องอาสินที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีประชาชนหรือเจ้าของที่ดินคัดค้านใดๆ

‘อัพเกรดเต็มสูตร’ ทุ่มงบ 4,660ล้าน ‘สนามบินตรัง’

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวอีกว่า ล่าสุดผู้รับจ้างได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ ที่จะทำการก่อสร้างขยายทางวิ่งเครื่องบินแล้ว โดยทางท่าอากาศยานตรังสามารถให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง ขยายทางวิ่งจากหัวรันเวย์ทางทิศตะวันตกไปจนถึงรั้วสนามบินได้ เนื้อที่ประมาณ 500 เมตร

เมื่อมีพ.ร.ฎ.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว พร้อมจ่ายค่าเวนคืนที่ดินได้ทันที จากนั้นสามารถเข้าทำการก่อสร้างต่อจากรั้วสนามบินข้ามทางรถไฟไปจนสุดโครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่าอากาศยานตรังประกาศเป็นสนามบินศุลกากร หรือสนามบินนานาชาติ เมื่อ 5 มี.ค. 2542 ต่อมาเมื่อปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจนํ้าท่วม จังหวัดตรัง เห็นสนามบินตรังมีสภาพเก่า คับแคบ จึงให้นโยบายกระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาท่าอากาศยานตรัง

ทำให้นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการคมนาคมขณะนั้น มาสำรวจและจัดงบประมาณพัฒนาสนามบินตรังเต็มรูปแบบ

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง เดินหน้าแผนงานพัฒนาท่าอากาศยานตรังต่อเนื่อง คือ ขยายทางวิ่งเครื่องบิน 1,800 ล้านบาท และจัดเงินงบ ประมาณเวนคืนที่ดิน 860 ล้านบาทที่เริ่มดำเนินการแล้ว ต่อเนื่องจากแผนงานเสริมความแข็งแรงรันเวย์และลานจอด 800 ล้านบาท และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 1,200 ล้านบาท ที่ลงมือไปก่อนหน้า

รวมงบประมาณพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ที่จะเสร็จทุกแผนงานในปี 2568 พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตครั้งนี้ เป็นเงินตามราคากลางรวม 4,660 ล้านบาท 

ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,725 วันที่ 24-27 ตุลาคม พ.ศ.2564