นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) กล่าวว่า เพื่อเป็นการ สร้างโอกาสและเพิ่มช่องทางการขายงานศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดการค้าให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อกระตุ้นยอดขายและส่งเสริมรายได้ภายหลังรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนคลายจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันฯ ได้จัดงาน SACIT เพลิน คราฟต์ ครั้งที่4 เพิ่มช่องทางการขายงานศิลปหัตถกรรมไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในการจัดสรรพื้นที่เพื่อจัดแสดงและจำหน่าย ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นทั้งสิ้น 4 ครั้ง ภายใต้แนวคิด Chill with Tropical หรือ เปิดประสบการณ์สัมผัสงานคราฟต์ เคล้าไปพร้อมกับบรรยากาศธรรมชาติ ได้สัมผัสกับงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มาแหล่งผลิตจากทั่วประเทศของไทย
โดยเป็นการรวบรวมงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีความร่วมสมัย มีเอกลักษณ์ มีดีไซน์โดดเด่น น่าสนใจ เข้ากับวิถีชีวิตคนเมือง มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ จากจากฝีมือของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก กว่า 40 ร้านค้า ทั้งสินค้าไลฟ์สไตล์ ของตกแต่งบ้าน งานผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยกัญชง เครื่องจักสาน เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องหนัง และงานฝีมือประเภทต่างๆ ที่ถูกคัดสรรคุณภาพ จากหลากหลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop งานคราฟต์ ไม่ว่าจะเป็น ประดิษฐ์ของเล่นโบราณ โดยครูทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์, ปั้นตุ๊กตาดิน (ตุ๊กตาชาววัง) โดยครูช่าง ครูสุดใจ เจริญสุข, ปั้นดิน white clay, Macrame Basket ศิลปะการผูกมัดถัก, Illustration Weaving ศิลปะการทอภาพ, Animal Pom Poms
โดยเริ่มครั้งแรก วันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2564 ชั้น 1 ลานโปรโมชั่น P1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต , ครั้งที่ 2 วันที่ 15 – 21 พฤศจิกายน 2564 ชั้น B ทางเชื่อม MRT ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 , ครั้งที่ 3 วันที่ 9 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ชั้น 1 ลานโปรโมชั่น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และและครั้งที่ 4 วันที่ 17 – 23 กุมภาพันธ์ 2565 ชั้น 1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2
“คาดการณ์ว่าจะสร้างเงินสะพัดตลอดการจัดงานราว 20 ล้านบาท และเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการ เพิ่มยอดขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พบว่ามูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยระหว่างเดือนมกราคม - สิงหาคม 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 169,602.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,863.79 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เดือนมกราคม - สิงหาคม 2563) ที่มีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 142,738.89 ล้านบาทโดยตลาดส่งออกสินค้าหัตถกรรมไทย 3 ประเทศแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น”