เช็กเงื่อนไขเยียวยาเอสเอ็มอี หัวละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ลงทะเบียน 20 ต.ค.นี้

20 ต.ค. 2564 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 16:30 น.
10.8 k

เปิดเกณฑ์เงื่อนไข"เยียวยาเอสเอ็มอี" รัฐอุดหนุนค่าจ้างหัวละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ลงทะเบียน เริ่มวันนี้ ( 20 ต.ค. ) ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th ตรวจรายละเอียดที่นี่

 

ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี โดยอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 37,521.69 ล้านบาท ในโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ  โดยมีเป้าหมายโครงการฯ ดังนี้

  • เพื่อเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูกิจการสร้างความแข็งแรงในธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินกิจการได้ต่อเนื่อง 
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลาง จำนวน 394,621 แห่ง อุดหนุนค่าจ้างผู้ประกันตนสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs จำนวน  4,236,320 คน  เป็นเงิน  36,311,310,000 บาท 
  • ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ ในเดือนที่ 2 และ 3 สูงสุด 201,730 ราย เป็นเงิน 1,210,380,000 บาท 

เงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการฯ

1.เป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ( ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน  2564

2.รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565 โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน กรณีการรับเงินอุดหนุนผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สำหรับธนาคารอื่นนายจ้างจะได้รับเงินอุดหนุนหลังจากวันดังกล่าว โดยจะถูกหักค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างธนาคารจากเงินอุดหนุน

3.นายจ้างมีหน้าที่หักเงินสมทบจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามสัญญาจ้างตามอัตราเงินสมทบที่กำหนด และจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเท่ากับจำนวนที่หักจากลูกจ้างรวมนำส่งสำนักงานประกันสังคม โดยจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Services (e-payment) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการนี้
 

4.นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น  

5.กรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกินร้อยละ 5 

ุ6.นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ

 

การลงทะเบียน

เอกสารที่ต้องใช้

  • สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร กรณีมอบอำนาจแนบหนังสือมอบอำนาจ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ 

แจ้งผลการอนุมัติ

  • เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการอนุมัติเข้าร่วมโครงการที่เว็บไซต์ดังกล่าวภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่ลงทะเบียน

 

เช็กเงื่อนไขเยียวยาเอสเอ็มอี หัวละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ลงทะเบียน 20 ต.ค.นี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ธุรกิจในกลุ่ม SMEs คือ กระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศไทย โดยกว่าร้อยละ 88.88 คือ "การจ้างงานคนไทย" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายรักษาระดับการจ้างงานและส่งเสริมการจ้างงานใหม่ จึงมอบหมายกระทรวงแรงงานดำเนินโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อลดปัญหาการว่างงาน โดยให้นายจ้างรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง ได้มีงานทำ มีรายได้ต่อเนื่อง และได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูกิจการสร้างความแข็งแรงในธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินกิจการได้ต่อเนื่อง