จาก “น้ำรอระบาย” ถึง “น้ำมาก”วาทกรรมสู้ “น้ำท่วม”!

17 ต.ค. 2564 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 21:15 น.
795

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ชู สร้างแก้มลิงใต้ดินดึงน้ำเข้าระบบ แก้จุดอ่อนน้ำท่วมกทม. ทัก จาก “น้ำรอระบาย” ถึง “น้ำมาก”วาทกรรมสู้ “น้ำท่วม" ผู้ว่าฯกทม. ยัน คนกรุงเผชิญน้ำท่วมขัง แม้มี4ทางด่วนน้ำ-อุโมงค์ยักษ์ กลับมีจุดอ่อน แอ่งกระทะ -คอขวด อุปสรรคการระบายน้ำ

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กวันที่17ตุลาคมระบุว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สมัยที่แล้วบอกว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกว่าน้ำรอระบาย” มาถึงผู้ว่าฯ กทม. สมัยนี้บอกว่า “ไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก” แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่า “น้ำรอระบาย” กับ “น้ำมาก” ต่างกันอย่างไร รู้แต่เพียงว่าบางช่วงเวลาที่ฝนตกหนักจนเกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำ จะทำให้น้ำเอ่อท้นถนนหรือ “น้ำท่วม” ถนนนั่นเอง คนกรุงเทพฯ บอกว่าจะให้เรียกอะไรก็ได้ ขออย่างเดียวอย่าให้ต้องลุยน้ำก็แล้วกัน

 

 

 

แม้ กทม. เตรียมพร้อมแล้ว แต่ทำไมน้ำก็ยังท่วม?

ดร.สามารถกล่าวว่า ทราบ ว่าก่อนหน้าฝนหรือก่อนฝนตกหนัก กทม. ได้ดำเนินการรับมือกับปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างดี อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น

ปัจจุบัน กทม. ควบคุมการทำงานของระบบระบายน้ำโดยใช้ SCADA (ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time) เพื่อติดตามระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ และการทำงานของเครื่องสูบน้ำ โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทางโทรศัพท์มือถือ หลายคนคงไม่รู้ว่าเครืองสูบน้ำที่ กทม. ใช้อยู่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า แต่ต้องมีเครื่องสูบน้ำดีเซลและเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีไฟดับ และที่สำคัญ กทม. ได้ใช้เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติมานานแล้ว แต่ต้องมีคนเฝ้าคอยแก้ปัญหาเมื่อเครื่องขัดข้อง เช่น มีขยะมาติด

แม้ กทม.ได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี “คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

จาก “น้ำรอระบาย” ถึง “น้ำมาก”วาทกรรมสู้ “น้ำท่วม”!

“คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำอย่างไร?

“คอขวด” คือท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กและคูคลองที่มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำจากพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ “แอ่งกระทะ” ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว

ถึงเวลานี้ เรามีอุโมงค์หรือ “ทางด่วนน้ำ” ใช้งานแล้ว 4 อุโมงค์ และกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ 1 อุโมงค์ รวมทั้งกำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ อุโมงค์เหล่านี้มีหน้าที่ลำเลียงน้ำซึ่งรับมาจากท่อระบายน้ำและคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ทั้ง 4 อุโมงค์ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ทันทีที่น้ำไหลมาถึงปากอุโมงค์ก็จะขนน้ำไปสู่ท้ายอุโมงค์แล้วสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว “ขาออก” จากอุโมงค์ไม่มีปัญหา น้ำสามารถออกจากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ “ขาเข้า” ที่ปากอุโมงค์มีปัญหา เนื่องจากท่อระบายน้ำและคูคลองไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก และคูคลองมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้มีสภาพเป็น “คอขวด” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก น่าเห็นใจยิ่งนัก

จะแก้ “คอขวด” ในการระบายน้ำได้อย่างไร?

กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วนโดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งกระทะ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังอีกต่อไป การแก้ปัญหา “คอขวด” สามารถทำได้โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะขจัด “คอขวด” ได้อย่างดี ช่วยให้การลำเลียงน้ำไปสู่คูคลองและอุโมงค์เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีอุปสรรค แม้ว่าการวางท่อใหม่จะใช้งบประมาณมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรเทาปัญหารถติด ลดมลพิษ และลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ

นอกจากแก้ “คอขวด” แล้ว กทม. จะต้องทำอะไร?

กทม. ในหลายยุคหลายสมัยได้สร้างแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำในขณะฝนตกหนักก่อนทยอยปล่อยออกสู่ระบบระบายน้ำเมื่อฝนหยุดตก ถึงเวลานี้มีแก้มลิงทั้งหมด 30 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมทั้งหมด 13.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้จะมีแก้มลิงหลายแห่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ จะหาพื้นที่สร้างแก้มลิงเพิ่มก็หาได้ยากมาก ดังนั้น ในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาที่ว่างสร้างแก้มลิงได้ กทม. จึงเปลี่ยนแนวคิดมาสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน” หรือที่ กทม. เรียกว่า “บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank)”

รู้มั้ยว่า กรุงเทพฯ มี “แก้มลิงใต้ดิน” แล้ว?

ถึงเวลานี้ กทม. สร้างแก้มลิงใต้ดินเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้แล้วจำนวน 2 แห่ง กำลังก่อสร้างอยู่อีก 2 แห่ง แก้มลิงใต้ดินเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แคบๆ แก้มลิงเหล่านี้ถูกสร้างในพื้นที่ที่สามารถบังคับน้ำให้ไหลลงแก้มดินใต้ดินได้ ที่สำคัญ ได้สร้างอยู่ใกล้กับคลองที่จะรองรับน้ำซึ่งถูกสูบออกจากแก้มลิงใต้ดินหลังฝนหยุดตก เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ใช้แก้มลิงใต้ดินได้ผล ถ้าสร้างแก้มลิงใต้ดินในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม แก้มลิงใต้ดินก็ไม่เกิดประโยขน์

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสร้างแก้มลิงใต้ดินที่มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ในย่านธุรกิจที่มีคนหนาแน่น สมมติว่าต้องการให้แก้มลิงใต้ดินนี้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนตกและน้ำไหลเข้าเต็มความจุของแก้มลิงใต้ดินแล้ว จะทำให้ระดับน้ำบนถนนลดลงเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เลย

ถ้าต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ได้ผล จะต้องทำให้ระดับน้ำลดลงอีก เช่น ให้ลดลง 25 เซนติเมตร ซึ่งจะต้องก่อสร้างแก้มลิงใต้ดินจำนวน 25 แห่ง มีความจุแห่งละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แต่จะหาพื้นที่ก่อสร้างแก้มลิงใต้ดินในย่านธุรกิจได้หรือ?

ด้วยเหตุนี้ การจะสร้างแก้มลิงใต้ดินจะต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดแค่เพียงแก้มลิงเท่านั้น แต่จะต้องออกแบบระบบน้ำเข้าออกแก้มลิง และระบบควบคุมน้ำในพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย ที่สำคัญ จะต้องไม่ลืมเรื่องการบำรุงรักษาแก้มลิงใต้ดินซึ่งหลังจากสูบน้ำออกหมดแล้ว จะมีคราบไขมันและคราบน้ำมันติดอยู่ที่พื้นและผนัง

สรุป

ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น กทม.ได้ทำมาหลายเรื่องแล้ว แต่อ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกบางเรื่องที่ กทม. จะต้องทำ ซึ่งบางเรื่องผมเคยพูดมาแล้ว แต่จะพูดอีกในโอกาสที่เหมาะสม

ทั้งหมดนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้สามารถขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่รักของเราผ่านวิกฤตช่วงฝนตกหนักไปให้ได้