" เอเวอร์แกรนด์ " ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ ใกล้ไทยกว่าที่คิด

04 ต.ค. 2564 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 17:07 น.
659

" กรณ์ " ยกประเด็น เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) สัญญาณวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ เตือนรัฐบาลไทยจับตาคู่ค้า ประเทศจีนอย่างใกล้ชิด

4 ตุลาคม 2564 - ปมวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ของจีน " เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) " ยังคงสร้างความหวาดผวาให้กับทิศทางเศรษฐกิจโลก 

 

ล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฐานะหัวหน้าพรรคกล้า ได้วิพากษ์ประเด็นดังกล่าว ระบุ ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ :  " Evergrande ระเบิดเวลาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจับตาใกล้ชิด " โดยมีใจความดังนี้ 

 

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยเรารับมือกับเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้ต้องคอยจับตาให้ดีครับ สื่อและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างชาติยังคงเกาะติดไม่หยุดกับประเด็น Evergrande 

ตอนผมคุมเศรษฐกิจในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เราทำงานจับตาเรื่องซับไพรม์ใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ทำงานเชิงลึกและทำความเข้าใจกันตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนจัดการได้อยู่หมัด แก้วิกฤตจนไทยฟื้นตัวไวอันดับ 2 ของโลก 

 

คำถามคือ วันนี้ไทยเตรียมรับมือกับประเด็น Evergrande หรือยัง!? 

Evergrande ใช้ยุทธศาสตร์ 3 สูง 1 ต่ำ คือหนี้สูง หนี้ต่อทุนสูง และยอดขายสูง ส่วน 1 ตํ่าคือ ต้นทุนต่ำ

ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี

แต่แล้วสุดท้ายการเสพติดหนี้ทำให้บริษัทล่มและสะเทือนไปถึงระบบธนาคารและแม้แต่การเมืองจีน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามลดความเสี่ยงในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศมาตรการ ‘3 เส้นแดง’ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกำหนด 1. สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน 2. สัดส่วนหนี้ต่อทุน 3. สัดส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น 

 

ตั้งแต่วันประกาศ Evergrande ไม่เคยผ่านทุกเงื่อนไข

ผมคิดว่ารัฐบาลจีนจะหาวิธีดูแลลูกค้าของ Evergrande ให้ได้รับการเยียวยา (เพื่อไม่ให้มีผลกระทบทางการเมือง) แต่จะไม่อุ้มผู้ถือหุ้นบริษัทแน่นอน

รัฐบาลของ สี จิ้นผิงได้ออกมาตรการเด็ดปีกทุนใหญ่ต่อเนื่องมาตลอดปี ดังนั้นบทบาทการเมืองจีนต่อภาคธุรกิจจึงเป็นประเด็นเสี่ยงที่สุดของทุกคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน และเมื่อรวมกับความอึมครึมในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนแล้ว เราจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

ถึงแม้วันนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะยังไม่มาก แต่ความพึ่งพาใกล้ชิดระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีนในปัจจุบันนี้ มีมากกว่า ไทย-อเมริกา ตอนเราโดนลูกหลงจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้นเราต้องวางแผนรับแรงกระแทกให้ดี 

ผู้บริหารประเทศและทีมเศรษฐกิจต้องจับตาเข้มข้นเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดครับ ...อย่าตายใจว่าไกลตัวเรา