เปิดใจ “อธิบดี” เคลียร์ทุกปมร้อน “กรมการข้าว”

25 ก.ย. 2564 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2564 | 17:09 น.
3.7 k

ถอดคำพูด “อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร” อธิบดีกรมการข้าว เปิดใจ เคลียร์ทุกปมร้อน “กรมการข้าว” อย่างหมดเปลือก พร้อมส่งไม้ต่อให้อธิบดีคนใหม่ แบบเต็มอิ่ม จุใจ ม้วนเดียวจบ

จากกรณีข่าว ล้วงลึก “กรมการข้าว” ฤา จะเป็นแดนสนธยา   นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว ได้ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" แบบตรงไปตรงมา เคลียร์ปมดรามาทุกข้อกล่าวหา แบบม้วนเดียวจบ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

  • พลิกปูมหลังก่อนก้าวสู่อธิบดี

 

อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร

 

นายอาชว์ชัยชาญ กล่าวถึง การโอนย้ายจากรองอธิบกรมส่งเสริมการเกษตร ย้ายโอนมานั่งอธิบดีกรมการข้าว ในช่วงแรกจะสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในกรมการข้าว รวมทั้งคนภายนอกกรม เพราะอยากให้ทราบเจตนาก่อน

 

“ผมเป็นลูกชาวนา  พ่อแม่มีอาชีพทำนา สิ่งที่เห็นมาโดยตลอดก็คือความยากลำบากของพี่น้องชาวนาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายิ่งทำนายิ่งยากจนขึ้น ทั้งที่การพัฒนาประเทศมีมาอย่างต่อเนื่อง พอผมมีโอกาสได้มารับราชการ”

 

เริ่มต้นรับราชการที่กรมส่งเสริมการเกษตร ไต่เต้ามาตั้งแต่เกษตรตำบล  เป็นนักวิชาการ หัวกลุ่มสำนักงานเกษตรจังหวัด และเป็นเกษตรจังหวัดหลายจังหวัด เป็นผู้อำนวยการเขต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2563

 

“ตลอดในชีวิตกรมส่งเสริมการเกษตรที่ผ่านมา 38 ปี จะเห็นว่าผมพยายามมากน้อยแค่ไหนไปอ่านประวัติผมได้ ไม่เคยโดนร้องเรียน เพราะไม่ว่าจะโอนย้ายไปที่ไหนผมก็ทำงาน  ทำอย่างเต็มที่ สามารถสืบประวัติได้หมด”

 

นายอาชว์ชัยชาญ เมื่อผมเข้ามามีโอกาสได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว  ก็เหลือระยะเวลาแค่ 7 เดือน ก็พอที่จะรับทราบปัญหาอยู่แล้วว่ากรมการข้าวมีภาระหน้าที่อะไร

  • ส่องประวัติ “กรมการข้าว”

 

โดยหลักกรมการข้าว เพิ่งตั้งกรมการข้าวในรอบนี้ ปี 2549 เพราะกรมการข้าว ถูก ยุบเลิกมาตั้งหลายรอบแล้ว พี่น้องชาวนาสำคัญมากขนาดไหน ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีกว่า 8 ล้านครัวเรือน  แต่ 1 ในจำนวนนี้ เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าว ที่เรียกว่าชาวนา ข้อมูลล่าสุดที่ได้มา ประมาณ 4.63 ล้านครัวเรือน เรียกว่าเกินครึ่งหนึ่งของเกษตรกร

 

“เกษตรกรที่เกินครึ่งหนึ่งของประเทศที่ทำนา” เปรียบเทียบพื้นที่การถือครอง กับพื้นที่การทำนา จากทั้งหมด 149 ล้านไร่ มีพื้นที่ของชาวนาประมาณ 60-62 ล้านไร่ หากวิเคราะห์แบบนี้ 1.เป็นชาวนารายย่อย พอไปดูรายได้ผลตอบแทนจากการทำนาทุกคนทราบหมดว่าต่ำ เนื่องจากปัญหามากมาย

 

อาทิ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรเป็นไปตามกลไกลของทางการค้า บางคนก็พูดว่าข้าวขายส่งออกได้น้อย จึงทำให้ราคาข้าวตกต่ำ เมื่อเป็นอย่างนี้ บทบาทของ “กรมการข้าว” จะทำอะไร กรมการข้าวมีหน้าที่ผลิตข้าวตามความต้องการของผู้บริโภค นี่คือภารกิจหลักๆ ของกรมการข้าว

 

“ชาวนา” ที่ไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่ได้เกี่ยวกับภาคใดภาคหนึ่งโดยตรง แต่เกี่ยวทุกภาคตั้งแต่การผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งกรมการข้าวอยู่ในช่วงของต้นน้ำ มีหน้าที่ส่งเสริมให้พี่น้องชาวนาปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดี ดังนั้นจะเห็นว่าภารกิจหลักของกรมการข้าว มีหน้าที่วิจัย ในการที่จะพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว มีการรับรองพันธุ์ข้าว ทั้งหมด 162 พันธุ์ที่ใช้ปลูกในประเทศไทย

 

ในจำนวน 162 พันธุ์ ในยุคที่ผมเข้ามาทำงาน 7 เดือน รับรองไปแล้ว 4 พันธุ์ ซึ่งพันธุ์ที่รับรองไปตอบโจทย์ได้บางพื้นที่ ซึ่งการทำนาขอประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มพันธุ์ข้าว 4-5 กลุ่ม ล่าสุด รับรองพันธุ์ กข89 เป็นข้าวขึ้นน้ำ นักวิจัยของเราใช้ระยะเวลากว่า 19 ปี กว่าจะได้พันธุ์นี้ขึ้นมา แต่พอกรมรับรองพันธุ์ข้าวบางท่านก็แสดงความคิดเห็นว่าเป็นพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ ระหว่าง 1-2 เมตร แล้วไม่เป็นความต้องการของตลาด ผมบอกว่าไม่ใช่คิดแบบนั้นไม่ถูก พันธุ์ข้าวสามารถปลูกได้ในพื้นที่มีน้ำท่วม แต่จะให้ปลูกเพื่อไปขายต่างประเทศได้อย่างเดียวหรือ

 

กข89 เพิ่งรับรองพันธุ์ข้าว

 

บางปีก็ได้รับรองพันธุ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจมาก ก็เป็นที่พออกพอใจ บางปีไม่ได้ตอบโจทย์โดยรวมก็ เหมือนว่าเราทำอะไรอยู่ แพ้เวียดนาม แพ้อินเดีย หมดแล้ว นอกจากพันธุ์ข้าวเรายังมีนักวิจัยกว่า 200 คน ที่อยู่ตาม 28 ศูนย์วิจัยทั่วประเทศ ทำหน้าที่ไม่ได้หยุดเลย แล้วงบประมาณบอกได้เลย เพราะผมจะเกษียณอายุแล้ว งบประมาณโดนถูกปรับลดทุกปี เราได้เงินมาวิจัยปีหนึ่งน้อยมาก

 

“ผมทำอย่างไร ผมต้องเปิดตัวเอง นำนักวิจัยของผมไปร่วมกับมหาวิทยาลัยบ้าง ไปร่วมกับสำนักวิจัยต่างๆ บ้าง เพื่อให้เกิดความกว้างขวางหลากหลายขึ้น อาจจะได้พันธุ์ข้าวผ่าเหล่า เป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ตลอด 7 เดือน”

 

  • เคลียร์งบเงินกู้โควิด 1,600 ล้าน

 

นายอาชว์ชัยชาญ กล่าวว่า ก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่งทางกรมการข้าวได้ของบประมาณจากรัฐบาลในเรื่องโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว  ที่ได้รับเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจโควิด รอบแรก 1,600 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งประเด็นนี้ตั้งต้นมาก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่งนี้แล้ว

 

“ผมได้นำมาพิจารณาพร้อมตั้งคำถามว่าทำไมถึงของบประมาณ ตั้ง 1,600 ล้านบาท แล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ส่วนตัวก็มีความกังวล แต่ก็มีการผ่านกระบวนการกรั่นกรองจากสภาพัฒน์ฯ หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว แต่ก็มีเสียงบ่นหลายคนก็ว่าเอามาทำไม จะเกิดประโยชน์อะไรกับชาวนา เรามีศูนย์เมล็ดพันธุ์อยู่ทั่วประเทศ ตอนนี้ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว  29 ศูนย์ กำลังก่อสร้างอีก 2 ศูนย์"

 

เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว

 

ถ้าตามหลักวิชาการ ตามหลักของกรมการข้าว ไม่เพียงพอหรอก เพราะที่เขียนในยุทธศาสตร์ข้าวไทย มีความต้องการใช้พันธุ์ข้าวทั้งประเทศในแต่ละปี ประมาณ 1.3-1.4 ล้านตัน ส่วนหนึ่งก็ประมาณว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เก็บพันธุ์ข้าวไว้เองครึ่งหนึ่ง แล้วก็มีส่วนแบ่งของกรมการข้าวต้องผลิตส่วนหนึ้ง

 

ศูนย์ส่งเสริมที่ผลิตข้าวศูนย์ข้าวชุมชน เป็นกลุ่มชาวนาที่กรมการข้าวได้ไปส่งเสริมจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้ส่วนหนึ่ง สหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรกร จะผลิตได้ส่วนหนึ่ง แล้วยังมีภาคเอกชนที่เป็นกลุ่ม สมาคมที่ไปผลิตและรวมรวมจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวก็ส่วนหนึ่ง

 

ย้อนกลับมาที่กรมการข้าวมีส่วนแบ่งเท่าไร ข้อมูลในข่าวที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ปีละประมาณ 85,000 ตัน นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ละปีใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนเป็นกองทุนที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อให้กรมการข้าวนำเงินไปใช้จ่ายการส่งเสริมกลุ่มชาวนามืออาชีพได้เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

 

จากนั้นทางกรมก็ไปรับซื้อซื้อ เพราะชาวนาทั่วไป หากไม่มีความประณีตจริงๆผลิตไม่ได้หรอกเมล็ดพันธุ์ เพราะต้องใช้ความถี่ถ้วน และเทคโนโลยีที่ค่อนข้างจะละเอียด เราก็จำเป็นที่จะต้องใช้โรงงานเพื่อนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ ไปคัดแยก สิ่งเจือปน เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์ ลดความชื้น คลุกสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดแมลง แล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาบรรจุถุง แล้วจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม

 

เครื่องเทคโนโลยี

 

ตั้งคำถาม ทำไมกรมการข้าวต้องทำ ถ้าไม่ทำ ผมถามจริงๆว่าใครจะทำ แล้วเมล็ดพันธุ์ของกรมเป็นเมล็ดพันธุ์ชนิดเดียว ที่ในภาพใหญ่ๆที่หน่วยงานราชการทำ นอกนั้นไม่มีใครทำ ทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เมล็ดพันธุ์ผัก เป็นกลุ่มเอกชนทำหมดแล้ว เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวก็มีข้อจำกัดว่าไม่ว่าใครจะไปทำอะไรก็แล้วแต่บ่งบอกลักษณะพันธุ์ เช่น พันธุ์นี้ ได้ผลผลิต 900 กก./ไร่ ก็ได้สูงสุดแค่นี้ ใครไปทำดีขนาดไหนก็ได้ผลผลิตไม่เกินนี้ เพราะฉะนั้นเราถึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพเมล็ดพันธุ์ แล้วก็มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้พันธุ์ดี

 

คราวนี้ถ้าถามว่าทำไมต้องมาใช้เงิน 1,600 ล้านบาท ทำกิจกรรมโน้น กิจกรรมนี้ ไปดูโรงงานได้เลย ตั้งมา 20-30 ปี เครื่องจักรเก่าหมดแล้ว ถ้าไม่ปรับปรุง หรือไม่ทำใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับไม่มีใครทำหรอก กรมไปขอทางสภาพัฒน์ฯ ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ให้กรมการข้าวนำเงินนี้มาปรับปรุงโรงงานต่างๆ

 

  • เกิดอะไรขึ้นข้าวเหลือค้างสต๊อก

 

“มาบอกอีกว่า ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ขายไม่ได้อีก  ผมถามจริงๆ ปีนี้ผมเป็นประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุน ที่ใช้กว่า 1,000 ล้านบาท รัฐบาลให้มาเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยมีวัตถุประสงค์ซื้อมาขายไป กล่าวคือ เงินที่ขายให้กับเกษตรกร แล้วก็ต้องส่งคืนหลวง แล้วหมุนเวียนกลับมา นำมาซื้อใหม่ เป็นแบบนี้ทุกปีถามว่าถ้าเราทำขาดทุนตลอด ใช่ไหม ก็ไม่ใช่

 

แต่บางปีที่ความต้องการใช้พันธุ์ของเกษตรกร เราบอกไม่ถูก เพราะเกษตรกรที่เป็นชาวนากว่า  4.6 ล้านครัวเรือน ไม่ได้มาแจ้งว่าปีนี้ต้องการพันธุ์ข้าวอะไร ปริมาณเท่าไร เราก็ต้องวิเคราะห์ ต้องใช้เหตุผลวิเคราะห์ว่าเรามีเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรปลูกพันธุ์ไหน เท่าไร แล้วกระแสความต้องการเป็นอย่างไร

 

ชาวนาปลูกข้าว คาดเดาใจไม่ถูก

 

นายอาชว์ชัยชาญ  กล่าวว่า เราก็เดาใจบนหลักวิชาการ ทำเป้าหมายในการผลิต แต่ละศูนย์ก็ต้องไปตั้งเป้ากำหนดเป้าหมายกันเองโดยการผลิตให้ตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการ พอเราผลิตจริง ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา ผมเครียดมา พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ที่กรมผลิตไม่กี่หมื่นตัน ปรากฏว่าพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวอีสานประมาณ 27-28 ล้านไร่ ปรากฎว่าเกษตรกรไม่มาซื้อเมล็ดพันธุ์กรมการข้าวเลย ผมได้ถามลงไปในพื้นที่ ทำไมมาซื้อน้อย

 

 

ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ในสถานการณ์ยุคโควิดอนุมานว่าเกษตรกรน่าจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้ มั่นใจว่าพันธุ์ที่เก็บไว้ก็พอใช้ได้ ลงทุนมากไป ยกตัวอย่าง 1 ไร่ ต่อ 1 กระสอบ หรือ 15 กก. ขายกิโลกรัมละ 25 บาท ก็เป็นต้นทุน ราคาข้าวก็ไม่จูงใจที่จะใช้เงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ไม่คุ้มค่าในการลงทุน แล้วใครจะอยากลงทุน

 

“ความจริงเมล็ดพันธุ์ข้าว ขายไม่ได้ ก็ค้างสต๊อก เราต้องบริหารจัดการ ถ้าเหลือก็จะเป็นเมล็ดพันธุ์เสื่อมสภาพ ผลสุดท้ายจะไปเกิดผลเสียกับกองทุนทำให้ขาดทุน แล้วเงินกองทุนไม่พอกพูน ก็จะทำให้ปีต่อๆไปประสบปัญหาในเรื่องเป้าหมายในการผลิตข้าวก็ไม่ได้ นอกจากผมนั่งเป็นประธาน ในคณะก็ยังมีสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ร่วมด้วย ทุกคนมีความเป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรกับเมล็ดข้าวค้างสต๊อก”

 

  • หั่นราคา จูงใจชาวนาซื้อ

 

พอทราบปัญหาว่าชาวนาไม่เงินจะมาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ปรับลดราคาให้เรื่อยๆในแต่ละช่วงแล้ว ก็ยังไม่มีชาวนามาซื้อเลย ปีนี้เป็นปัญหามาก ผมเชิญเลยให้มาดูรายงานการประชุมของผมได้ ผมเครียดมาก คนไม่เข้าใจก็ถามว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ทำไม ผลิตแล้วก็ขายไม่ได้ ก็เพราะไม่ได้มานั่งในตำแหน่งตรงนี้ ในชีวิตข้าราชการของผมครั้งนี้หนักที่สุดในชีวิตแล้ว ที่มาอยู่กรมการข้าว

 

แต่บางคนก็บอกว่าเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบหรือไม่ โดยหลักของกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560  ก็มีคณะกรรมการเป็นการป้องกันการกระทำผิดทุจริต มีผู้สังเกตการณ์มานั่งทุกขั้นตอน ผมไม่เอาชีวิตของผมไปเสี่ยงหรอก เพราะอีกไม่กี่วันก็จะเกษียณแล้ว ซึ่งก็อยากจะเกษียณอายุด้วยความภาคภูมิใจของผม

 

คำพูดที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึก

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ นี่คือส่วนหนึ่งในเรื่องของพันธุ์ข้าว ตั้งแต่ผมมาอยู่กับกรมการข้าวก็จะบอกเสมอว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ว่าเรื่องพันธุ์ข้าว เรื่องเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ถ้าทั้งหมดไม่ถึงพี่น้องชาวนา กรมการข้าวก็ไม่ควรจะมี ก็ควรจะเอาประโยชน์ทั้งหมดไปให้ถึงชาวนา มาถึงโดยวีการใดบ้าง

 

1. เรื่องของปัจจัยการผลิต เครื่องจักรอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่จะต้องไปส่งเสริม องค์ความรู้ต่างๆ ที่เป็นของดีทั้งหลายจะต้องไปให้เกษตรกรชาวนาได้รับรู้ นำไปปฏิบัติได้ ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในประเด็นข่าว ในการจัดสรรงบประมาณเอาไปซื้อเครื่องจักรเครื่องมือไม่ดีบ้าง

 

“ถามว่า ทุกวันนี้การตรวจสอบเยอะมาก ไม่สามารถที่จะไปล็อกสเปกได้หรอก ทุกอย่างเปิดเผย เป็นไปตามกฎหมาย แล้วบางเรื่องก็เกิดก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง ทั้งในเรื่อง 400 ล้านบาท อ้างช่วยเหลือชาวนา ชาวนาไม่ได้ ผมเข้ามาก็ประสานแล้วดำเนินการแก้ไขปัญหามากมาย รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือที่มีการกล่าวอ้างนั้นว่าไปซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ ผมก็นำมาแก้ไข ทำไมทีเรื่องดีดีถึงไม่พูดถึง แต่เรื่องไม่ดีก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา เกิดปัญหาตรงไหน”

 

นายอาชว์ชัยชาญ กล่าว พอเข้ามา เป็นตัวกลางในการแก้ไขเยอะมาก เวลาตั้งเรื่องจัดซื้อ ตั้งโดยภาพรวม อาจจะถูกใจคนบางกลุ่ม บางพวก ไม่ถูกใจคนบางกลุ่มบางพวก แบบซื้อเหมารวม ไม่ได้ซื้อว่ากลุ่มนี้ต้องการแบบนี้ หรือต้องการแบบนี้ ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ แจกไป 200 เครื่อง มีกี่แห่งที่มีปัญหา เช็กดูได้ เมื่อมีปัญหากรมการข้าว ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ลงไปแก้ปัญหาให้ ก็ยอมรับว่าลำบาก ผมเข้ามา 7 เดือน อีก 3-4 วันจะเกษียนแล้ว ก็รู้สึกไม่สบายใจอาจจะไปพันกับเรื่องอื่นๆ เพื่อให้เกิดกระแสด้านใดด้านหนึ่งในวงการข้าว ก็ไม่เข้าใจ

 

"ไม่ว่าองค์กรไหน เรื่องราวต่างๆ นี้ ที่ให้ข้อมูลก็เป็นคนภายในทั้งนั้น รวมทั้งเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ว่าเราโอนเงินไปกว่า 20-30 ล้านบาท  เพื่อไปล็อกให้คนนั้นคนนี้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทำข่าว ผมไม่รู้หรอกว่าผมโอนเงินไปก็เพราะมีจุดประสงค์จริงอยากสร้างการรับรู้ กรมการข้าว เวลาทำอะไรก็จะเงียบ ออกข่าวแต่ไม่ดี ข่าวดีๆ ไม่ออก หากทำอย่างนี้ชาวนาก็ไม่รับรู้ เราจะแจกเงินข้าวอินทรีย์ 917 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง ปี 2560 จะแจกภายใน 1-2 วันนี้ เพราะ ครม.เพิ่งอนุมัติ ข่าวแบบนี้กับไม่มีออก แต่กลับมีคนร้องเรียนเข้ามาเยอะเลย ผมเลยบอกว่าเราอยู่อย่างนี้ไม่ได้"

 

ความจริงผลงานเรามากมายเลยในเรื่องการรับรองพันธุ์ข้าวดีดี ก็มีมาก เทคโนโนโลยีก็มีเยอะ ก็ได้นำเงินงบประมาณบางส่วนที่เหลือจ่ายจากงานอื่นมาทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ก็แบ่งๆ กันไปเพราะเรามีศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทำข่าวประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวของแต่ละศูนย์ บทบาทของกรมการข้าวทำอะไร มีพันธุ์ข้าวอะไรใหม่บ้างหรือไม่  มีเทคโนโลยีอะไรใหม่บ้าง หรืองานที่ไปช่วยเหลือพี่น้องชาวนาเราทำอะไรบ้าง คนภายนอกจะได้รับทราบข่าวทางกรมการข้าวที่เป็นเชิงบวก ผมมีเจตนาอย่างนี้เลย

 

  • แจกงบประชาสัมพันธ์ศูนย์

 

พอมาจ่ายงบประมาณแบบนี้ก็มีเสียงว่านำเงินไปผลาญ แทนที่จะเอาเงินไปช่วยเกษตรกร   นี่คือการช่วย เพราะการช่วยไม่ใช่เพียงแค่เอาข้าวของไปแจกอย่างเดียว แต่การที่เกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสารที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีทุกองค์กร ประเด็นเหล่านี้ผมมาทำงานที่กรมการข้าว 7 เดือน ผมเป็นคนดีเด่นอะไรไหม ไม่ใช่ แต่ผมมีความตั้งใจ ไปถามใครก็ได้ในกรมการข้าว ตั้งแต่ผมมาอยุ่ผมทำอะไรบ้าง ผมไม่มีไปทะเลาะกับใคร ไม่มีพวกใคร เพราะคนกรมการข้าว ผมถือว่าเป็นในครอบครัวเดียวกัน

 

“คนในครอบครัวเดียวกัน หมายถึงคนต้องรักกัน มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ไม่ใช่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะถูกไหม ตั้งแต่ผมอยู่กรมส่งเสริมการเกษตร 38 ปี ผมไม่เคยโดนร้องเรียน แต่พอมาอยู่ตรงนี้ผมมีความตั้งใจ ผมดูแลทุกคนไม่มีลูกรักลูกชัง หรือพี่ชัง น้องชัง ไม่มี นี่เจตนาผม”

 

 

นายอาชว์ชัยชาญ  กล่าวว่า ผมเปลี่ยนนามสกุลผม ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาอยู่กรมการข้าว ผมต้องการสี่อสารไปยังทุกคนให้เข้าใจทั้งคนในวงการและคนนอกวงการข้าวว่า อาชว์ชัยชาญ เปลี่ยนนามสกุล เป็นลูกชาวนา เพื่อจะสื่อสารว่าผมไม่ทรยศกับชาวนาเด็ดขาด เพราะนั่นคือ พ่อแม่ผม บรรพบุรุษของผม สิ่งใดที่ผมทำได้ผมทำเต็มที่ แต่มีเวลาน้อยไปนิดหนึ่ง

 

“เรื่องต่างๆ เหล่านี้ผมมีเวลามากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าคนในกรมการข้าว เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ต้องช่วยกัน จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ต้องช่วยกัน ต้องดูแลพี่น้องชาวนา แต่ไม่ใช่ไปเอื้อให้กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน”

 

  • พร้อมถูกตรวจสอบ แม้จะก้าวพ้นรั้วกรมการข้าว

 

อย่างไรก็ดีก็อยากจะฝากไปถึงคนภายในที่ให้ข่าว อะไรที่พูดความจริง พูดได้เลย ที่เห็นว่าผิดมาว่ากันยินดีจะได้รับการตรวจสอบทุกเรื่อง แม้ว่าจะออกไปจากกรมการข้าวแล้วก็ตาม เพราะอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำของในช่วงที่มาดำรงตำแหน่ง แต่เชื่อมั่น ว่าหาก “ผมเป็นนักวิ่ง ผมก็วิ่งในลู่ตลอด ผมก็ไม่ได้ออกนอกลู่”

 

สำหรับการที่ลงพื้นที่ นั้นประกาศที่ 1. เพราะต้องการเอาตัวไปยืนยันกับทุกคนให้ทุกคนได้ทราบเจตนาที่ดีในการทำงาน ประการที่ 2 อยากให้ทุกคนเข้าใจกรมการข้าวต้องทำหน้าที่เพื่อชาวนา ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อให้กรมการข้าวเจริญรุ่งเรือง ถ้าเราทำทั้งหมดชาวนาไม่ดีขึ้นเราต้องช่วยกัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากพี่ๆน้องๆ เพื่อนๆ กันที่ทำงานก็ต้องขอบคุณทุกคนเลย อยากจะฝากไปถึงกลุ่มคนบางกลุ่มอย่าไปสร้างเลยความแตกแยกไม่สร้างสรรค์”

 

“ผมมีผิดพลาดอะไรบ้างไหม ก็ต้องมี ไม่มีใครดี100% ไม่มีใครชั่ว100% ก็ต้องมองกันในทุกๆ ด้าน เจตนาคืออะไร อยากจะฝากให้กรมการข้าวเป็นพี่น้องกัน รักกัน ดูแลบ้านของตัวเอง ทำงานเพื่อชาวนาให้ได้อย่าไปคิดเอาประโยชน์ส่วนตนเลย เป็นข้าราชการก็ถือว่าดีแล้ว”

 

อย่างไรก็ดีนายอาชว์ชัยชาญ  กล่าวว่า อยากจะฝากถึงอธิบดีคนใหม่ ว่าอย่ากลัวเลยในการที่จะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว ก็ขอให้ท่านมีความตั้งใจ และเจตนาดี แล้วก็ดูว่างานว่ากรมการข้าวควรจะเอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน ต้องทำ ไม่ต้องไปกังวลกับพวกข้าราชการด้วยกัน ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าหลักการดี เรามีเจตนาดี และให้ตั้งใจทำก็ไม่ต้องไปกังวลกับใคร ให้เอาประโยชน์ชาวนาเป็นที่ตั้ง