เช็กเลย! 49 จังหวัดเสี่ยง รับมือฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก 24-28 ก.ย.

23 ก.ย. 2564 | 19:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2564 | 03:11 น.
6.4 k

กอนช. เปิดรายชื่อ 49 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง น้ำท่วมขัง เช็กเลย จังหวัดไหนบ้าง รับมือ วันที่ 24-28 ก.ย. นี้

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางที่ทวีกำลังแรงจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 24 กันยายน 2564 และจะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง

 

เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ในช่วงวันที่ 24 - 25 กันยายน 2564 ตามลำดับ ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง นั้น

เส้นทางพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่"

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 24 - 28 กันยายน 2564

 

มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

 

1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และชัยภูมิ ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ตรัง นครศรีธรรมราช และสตูล

สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ

 

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากและมีความเสี่ยงล้นทางระบายน้ำล้น ประกอบด้วย

 

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี

 

อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 81 แห่ง ประกอบด้วย

1. ภาคเหนือ จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยช้าง จังหวัดเชียงราย แม่คำปอง จังหวัดแพร่ ห้วยลึก และห้วยแม่ท้อ จังหวัดตาก แม่พริก แม่เลียง แม่ต่ำ และแม่วะ จังหวัดลำปาง ห้วยน้ำแหง จังหวัดน่าน คลองตรอน และห้วยแม่เฉย จังหวัดอุตรดิตถ์ แม่กองค่าย และทุ่งทะเลหลวง จังหวัดสุโขทัย

 

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 41 แห่ง ได้แก่ ห้วยน้ำสวย ห้วยลิ้นควาย ห้วยน้ำหมาน  น้ำเลย จังหวัดเลย น้ำบึงอร่าม ห้วยสังเคียบ ห้วยโพธิ์ ห้วยจุมจัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ห้วยทราย หนองกรองแก้ว จังหวัดขอนแก่น ห้วยส้มป่อย ลำช่อระกำ น้ำพรม ห้วยทราย จังหวัดชัยภูมิ ห้วยศรีคุณ ห้วยส้มโฮง ห้วยกะเบา จังหวัดนครพนม ลำเชียงสา บ้านสันกำแพง ลำเชียงไกรตอนบน ลำเชียงไกรตอนล่าง หนองกก ลำฉมวก

 

จังหวัดนครราชสีมา ห้วยเชียงคำ ห้วยจอกขวาง จังหวัดมหาสารคาม ห้วยไร่ จังหวัดมุกดาหาร หนองสิ จังหวัดศรีสะเกษ ห้วยแก้ว ห้วยเสนง บ้านจรัส บ้านเกาะแก้ว ห้วยกะเลงเวก จังหวัดสุรินทร์ ห้วยทอนตอนบน ห้วยหินแก้ว จังหวัดหนองคาย ห้วยทราย จังหวัดอุดรธานี ห้วยถ้ำแข้ ห้วยพลาญเสือ ห้วยเดือนห้า ห้วยโดน ห้วยละมืด ห้วยหินกอง จังหวัดอุบลราชธานี

น้ำป่าไหลหลาก

 

3.ภาคตะวันออก จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศาลทราย และคลองพระพุทธ จังหวัดจันทบุรี ห้วยสะพาน จังหวัดชลบุรี เขาระกำ คลองโสน คลองสะพานหิน บ้านมะนาว ด่านชุมพล และวังปลาหมอ จังหวัดตราด ทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี คลองระโอก จังหวัดระยอง ห้วยชัน ท่ากะบาก คลองเกลือ ช่องกล่ำล่าง และพระปรง จังหวัดสระแก้ว ทรายทอง และคลองวังบอน จังหวัดนครนายก

 

4. ภาคตะวันตก จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ลำตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี ห้วยมะหาด และท่าเคย จังหวัดราชบุรี

 

 5. ภาคใต้ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คลองหยาคลองแห้ง จังหวัดกระบี่ บางเหนียวดำ จังหวัดภูเก็ต และคลองหลา จังหวัดสงขลา

 

3. เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และ ท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ

1 ภาคเหนือ บริเวณห้วยแม่มอก จังหวัดลำปาง แม่น้ำยม จังหวัดแพร่ สุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดกำแพงเพชร แม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และแม่น้ำน่าน คลองท่าขมิ้น จังหวัดนครสวรรค์

 

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี อำเภอหนองระบัวเหว และอำเภอเนินสง่า ลำปะทาว อำเภอภูเขียว แม่น้ำพรม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ลำน้ำยัง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และแม่น้ำมูล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ พิมาย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่

สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำ

 

ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

ให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30 เพื่อรองรับฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน

 

ขอให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หากเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ใด ให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด และใช้อาคารชลศาสตร์จัดจราจรน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ป่าสัก สะแกกรัง ลุ่มน้ำชี และเร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย และให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 

 ให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

 

ด้านเพจ เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ โพสต์ อัพเดท ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด "พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่" เป็นภาพที่สวยงามอลังการมากรัศมีของพายุกว้างและใหญ่มากๆ 

 

ด่วนที่สุด เตือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมรับมืออุทกภัย คาดบริเวณใกล้จุดศูนย์กลางฝนหนักสุดที่พายุจะวิ่งผ่าน100 ถึง 280 มิลลิเมตร พรุ่งนี้เช้าๆจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยตกตลอดทั้งวัน "พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่" จุดศูนย์กลางยังคงอยู่นอกชายฝั่งประเทศเวียดนามคาดว่าจะขึ้นฝั่งเวียดนามคืนนี้ดึกๆ 24ถึง25/9/2564 

 

บริเวณที่คาดการณ์ว่าจะตกหนักแบบสุดๆ จะเป็นบริเวณตามเฉดสีตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีเทา บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยจากแบบจำลอง กราฟฟิกพยากรณ์ฝนสะสมทุก 24 ชั่วโมง

 

เตือนพื้นที่เสี่ยงภัย มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์

 

จากแบบจำลองหนักมากๆๆ สิ่งที่ควรเตรียมรับมือ ที่ต่ำที่ลุ่มควรเก็บของมีค่าขึ้นที่สูง จอดรถไว้ในที่สูง ข้าวสารอาหารแห้งน้ำดื่มเทียนไขไฟฉาย สิ่งที่ของจำเป็น เตรียมเรือ

 

แบบจำลองเริ่มจะมีความแม่นยำถึง 70-80% แล้ว รออัพเดทอีกครั้ง ดึกๆ คืนนี้