“จุรินทร์”นัดถก“ยูเรเซีย”  เร่งขยายความร่วมมือหวังยกระดับทำ FTA

23 ก.ย. 2564 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 22:55 น.

“จุรินทร์”เตรียมเป็นประธานประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับยูเรเซีย 27 ก.ย.นี้ หารือแนวทางขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ปูทางไปสู่การทำ FTA ในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) ครั้งที่ 2 ร่วมกับนาย Sergey GLAZIEV รัฐมนตรีด้านการบูรณาการและเศรษฐกิจมหภาคของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ในวันที่ 27 ก.ย.2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน และการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในอนาคต

“จุรินทร์”นัดถก“ยูเรเซีย”   เร่งขยายความร่วมมือหวังยกระดับทำ FTA

สำหรับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย เป็นการรวมกลุ่มของ 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดเดียวที่จะเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานระหว่างกันได้อย่างเสรี ทำให้ EAEU เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจ มีประชากรกว่า 180 ล้านคน และ GDP สูงกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (66.42 ล้านล้านบาท) รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่ธรรมชาติ มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบัน EAEU มี FTA กับสมาชิกอาเซียน 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม และสิงคโปร์
 

 


 

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) การค้ารวมไทย-EAEU มีมูลค่า 1,831.31 ล้านดอลลสาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% โดยไทยส่งออกไป EAEU มูลค่า 579.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยนำเข้าจาก EAEU มูลค่า 1,252.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืช แลผลิตภัณฑ์จากพืช และถ่านหิน เป็นต้น