ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ควันที่7กันยายนว่า เมื่อเร็วๆ นี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 78,720 ล้านบาท
โดยอ้างว่าส่งเอกสารบางรายการไปไม่ถึงผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าแท้จริงอาจเป็นเพราะต้องการหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุดท้ายไม่มีการอภิปรายเรื่องนี้ จึงมีเหตุชวนให้น่าสงสัยว่าข้ออ้างของ รฟม.เป็นจริงหรือไม่? ถ้าจริง รฟม.ต้องกล้าแสดงหลักฐาน!
บทบาทของผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง รฟม.กับผู้เข้าร่วมประมูลว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล โดยมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ร่างทีโออาร์) ร่างประกาศเชิญชวน จนถึงขั้นตอนสิ้นสุดการประมูล
ผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งจำเป็นต่อการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับการประมูล
ทั้งนี้ รฟม.จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์การประมูลทุกขั้นตอน โดย รฟม.จะต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่ผู้สังเกตการณ์ เช่น ร่างทีโออาร์ ร่างประกาศเชิญชวน และร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
กรณีที่พบว่า รฟม.มิได้ปฏิบัติตามหรือได้กระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม หรือพบเห็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้ ผู้สังเกตการณ์จะต้องแจ้งให้ รฟม.ทราบ เพื่อให้ รฟม.ชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่กำหนด
หาก รฟม.ไม่ชี้แจงหรือชี้แจงไม่ชัดเจนหรือไม่แก้ไข ผู้สังเกตการณ์จะต้องรายงานต่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อให้ ACT รายงานต่อฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) พิจารณาดำเนินการต่อไป
รฟม.ไม่ทำตามข้อลงคุณธรรมอย่างไร?
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.อ้างว่าส่งเอกสารบางรายการไปไม่ถึงผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากมีอุปสรรคที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รฟม.อาจต้องการหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็นการใช้เกณฑ์ประมูลเหมือนกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่ถูกฟ้องร้องอยู่ ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดมีคำถามต่อ รฟม. ดังนี้
1. รฟม.ส่งเอกสารไปทางใดจึงไม่ถึงผู้สังเกตการณ์
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่าแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ไม่ว่าไปรษณีย์หรือผู้ประกอบการส่งเอกสารอื่นก็ยังคงทำงาน อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ถ้า รฟม.ส่งเอกสารผ่านทางอีเมล หรือไลน์ด้วยก็จะสามารถไปถึงผู้สังเกตการณ์ได้ในพริบตา
2. เอกสารใดบ้างที่ รฟม.ส่งไปไม่ถึง
หากเป็นร่างทีโออาร์ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงเกณฑ์ประมูล ผู้สังเกตการณ์ก็ไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าร่างทีโออาร์เหมาะสมหรือไม่? ทั้งนี้ รฟม.ใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ย้อนแย้ง” กับความต้องการของ รฟม.ที่มุ่งหวังจะได้ผู้รับเหมาที่เก่งด้านเทคนิค เนื่องจากถ้าใช้เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาจะลดความสำคัญด้านเทคนิคลง
อีกทั้ง รฟม.ไม่อนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานจากต่างประเทศมาอ้างเป็นผลงานได้ ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้น้อยราย ทั้งๆ ที่เป็นการประกวดราคานานาชาติที่ต้องการให้มีการแข่งขันอย่างกว้างขาง และช่วยลดการสมยอมราคา (ฮั้ว)
3. ผู้สังเกตการณ์ได้แจ้งไปที่ รฟม.หรือไม่? ว่าไม่ได้รับเอกสารใด หรือทั้งหมด และแจ้งไปกี่ครั้ง? เมื่อใด?
4. รฟม.ได้ชี้แจงหรือแก้ไขหรือไม่? เมื่อใด?
5. รฟม.จะกล้าแสดงเอกสารหลักฐานการโต้ตอบระหว่าง รฟม.กับผู้สังเกตการณ์หรือไม่? เพื่อทำให้สังคมเชื่อได้ว่าข้ออ้างของ รฟม.ตามที่ได้แถลงข่าวว่าส่งเอกสารบางรายการไปไม่ถึงผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การสื่อสารกับผู้สังเกตการณ์คลาดเคลื่อนนั้นเป็นจริง
สรุป
หาก รฟม.ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานการโต้ตอบกับผู้สังเกตการณ์ได้ ความเคลือบแคลงสงสัยก็คงไม่จางหายไปจากพี่น้องประชาชนที่ติดตามการประมูลโครงการสำคัญนี้ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งหวังที่จะให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
กรณีข้ออ้างของ รฟม.รับฟังไม่ขึ้น ผมขอเรียกร้องให้ ค.ป.ท.พิจารณารายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง