สขค.ชี้เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงเสียเปรียบทางการค้า

05 ก.ย. 2564 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2564 | 18:21 น.

สขค. ส่งสัญญาณความเสี่ยงการแข่งขันทางการค้ากลุ่มเอสเอ็มอี พร้อมชูมาตรการช่วยรายย่อยภายใต้ภาวะวิกฤต   ได้ออกแนวปฏิบัติเรื่องระยะเวลาการให้สินเชื่อทางการค้า ผลบังคับบังคับใช้ ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้

นาย สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ สสว. ได้แสดงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs เมื่อพิจารณาจาก GDP ของ SMEs ปี 2563 พบว่า ขนาดของผลประกอบการของ SMEs มีอัตราการลดลงถึง  - 9.1% เมื่อเทียบกับ GDP ประเทศที่ลดลงประมาณ - 6.1% ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเริ่มระบาด

สขค.ชี้เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงเสียเปรียบทางการค้า

จากการติดตามสถานการณ์ของ SMEs มาอย่างต่อเนื่องของ สขค.คาดว่าสิ่งที่ SMEs ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในระยะหลังจากนี้คือ   โครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากการรุกคืบของเทคโนโลยี E-platform ต่างๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ต้องถูกแย่งพื้นที่ตลาด โดยเฉพาะธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งออนไลน์ รวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

สขค.ชี้เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงเสียเปรียบทางการค้า

การควบรวมธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า Mergers & Acquisitions: M&A ที่รวมถึงการกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ซึ่งปัจจุบันหลายธุรกิจทั่วโลกได้เดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการควบรวมกิจการมากขึ้น ที่มักมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจจากการรวมธุรกิจ และจะเป็นการสร้างทางรอดของธุรกิอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่ตามมาคือทำให้โอกาสการแข่งขันโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs และ MSMEs ลดลง หรือไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อีกทั้งยังอาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย  และการใช้อำนาจเหนือตลาดจากผู้ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยี ซึ่งหาก SMEs ไม่สามารถปรับตัวหรือรู้เท่าทันกับเรื่องดังกล่าว ก็จะเป็นผู้เสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า และนำมาซึ่งช่องว่างในการถูกรังแกจากผู้ที่มีความสามารถที่มากกว่าอย่างต่อเนื่อง

สขค.ชี้เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงเสียเปรียบทางการค้า

ทั้งนี้สขค.ได้ออกแนวปฏิบัติเรื่องระยะเวลาการให้สินเชื่อทางการค้าหรือ Credit Term สำหรับใช้กำกับดูแลระยะเวลาของให้สินเชื่อทางการค้าที่เป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ได้ใช้กำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าสำหรับภาคการค้า การผลิต และภาคบริการไว้ไม่เกิน 45 วัน  และสำหรับภาคการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน กำหนดไว้ไม่เกิน 30 วัน เพื่อวัตถุประสงค์ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะมีผลบังคับบังคับใช้ ในวันที่ 16 ธันวาคม2564  รวมทั้งเข้มงวดการบังคับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มุ่งสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรมและไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการซึ่งกันและกัน

สขค.ชี้เอสเอ็มอีไทยเสี่ยงเสียเปรียบทางการค้า

 นอกจากนี้ สขค. ยังได้มีการออก แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมของ SMEs มีจำนวนผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าที่จะสร้างมาตรฐานทางการค้าระหว่างผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) และผู้รับสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่า แฟรนไชส์ซี (Franchisee) ผ่านข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีธรรมาภิบาลและมีบรรทัดฐานในการประกอบธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เนื่องมาจากการขยายตัวของธุรกิจ  E-commerce เพื่อลดการเอาเปรียบหรือใช้อำนาจเหนือตลาดของเจ้าของแพลตฟอร์มและทำให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์โควิด – 19