"ศ.ดร.พรายพล" จี้รัฐ ปรับเป้า Net zero Carbon ช้าสุดไม่เกินปี 98

27 ส.ค. 2564 | 17:56 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2564 | 00:56 น.
618

"ศ.ดร.พรายพล" จี้รัฐปรับเป้า Net zero Carbon ในปี 2593 อย่างช้าไม่เกินปี 2598 เสนอปรับแผน PDP หนุนผลักดันพลังงานสะอาด พร้อมส่งเสริมการใช้ รถ EV ในประเทศมากขึ้น

ศ.ดร.พรายพล  คุ้มทรัพย์  นักวิชาการด้านพลังงานกล่าวในงานสัมมนาหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เรื่อง "ทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลด CO2 " โดยระบุว่า นโยบายลดคาร์บอน zero ถือเป็นนโยบายที่ดีที่รัฐบาลริเริ่มสำหรับประเทศ แต่การกำหนดเป้าหมายในอีก 45-50 ปีข้างหน้าหรือประมาณ 2608-2613 นั้นที่จะเข้าสู่ Net zero carbon นั้น เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ช้าเกินไป

ศ.ดร.พรายพล  คุ้มทรัพย์  นักวิชาการด้านพลังงาน

ทั้งนี้เพราะ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้มีข้อสรุปผลศึกษา 3 ข้อ  ได้แก่

 

1. ปัญหาและปัญหาภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากมนุษย์ฉะนั้น มนุษย์ต้องเป็นผู้แก้ไข

 

2. ถ้าต้องการลดหายนะภาวะโลกร้อน จำเป็นจะต้องลดจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ไม่ใช่ 2องศาเซลเซียสแล้ว)

 

3.ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 50% ของปี 2540 และต้องลดเหลือศูนย์องศาภายในปี 2593 ซึ่งจะสอดคล้องกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายที่มีการกำหนดแนวทางดังกล่าวให้ได้ภายในในปี 2593 ทั้งยุโรปสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศ แต่แต่จีนกำหนดเป็นปี 2603

 

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้กำหนดจัดเก็บภาษีขาเข้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเกินเกณฑ์ที่กำหนดในปีหน้า ซึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญถ้าประเทศไทยยังเดินหน้าช้าอย่างนี้ด้านการส่งออกจะเกิดปัญหาส่งออกสินค้าไปต่างประเทศที่จะต้องถูกจัดเก็บภาษี และอาจจะมีอีกหลายประเทศที่จะหันมาใช้เครื่องมือทางการค้าเพื่อบีบบังคับมากขึ้นนอกจาก สหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสูงและรวดเร็ว

"ต้องเร่ง Net  zero carbon ไม่ให้ช้าไปกว่าปี 2593  หรือบวกอีก 5 ปีคือ 2598 ก่อนที่ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก ทั้งนี้หากประเทศไทยยิ่งช้าก็ยิ่งเจ็บเพราะแม้จะไม่เจอภาษีการค้าประเทศไทยก็แย่อยู่แล้วจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเทคโนโลยีล้าหลัง ยิ่งเจอภาษีคาร์บอนอีกประเทศไทยก็จะยิ่งแย่ จึงอยากให้ผลักดันตั้งเป้า Net  zero carbon ให้ได้ภายในปี 2593 อีก 30 ปีข้างหน้าหรือถ้าช้ากว่านั้นไม่ควรจะเกินปี 2598 "ศ.ดร.พรายพลกล่าว

 

ส่วนแนวทางที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายใน 2598  โดยลดคาร์บอนทางด้านพลังงานและด้านที่ไม่ใช่พลังงานเช่น การเกษตร  รวมถึงพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ แต่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่บุ้งลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวกับด้านพลังงานให้มาก ทั้งการส่งเสริมด้านพลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน

 

ขั้นตอนแรกเสนอให้ปรับแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP เพราะภายใต้แผน PDP  ปัจจุบันนั้น อีก 20 ปีข้างหน้ายังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 65% (ทั้งแก๊สธรรมชาติและถ่านหิน) เพราะคาดว่าอีก  20 ปีพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 20% เท่านั้น

ดังนั้นต้องหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นซึ่งพลังงานหมุนเวียนจะมีทั้งโซลาร์ฟาร์ม,รูฟท้อป   พลังงานลมอนาคตน่าจะมีศักยภาพมากทั้งทางบกและในทะเล,ชี วมวล(เช่น วัสดุการเกษตร   ไม้โตเร็ว  ขยะ ) และ แบตเตอรี่ รวมทั้งในอนาคตอาจจะมีโอกาสการใช้ไฮโดรเจนมากขึ้นได้

 

ที่น่าสนใจพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่มีต้นทุนลดลงทุกปี โดยสามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะเปิดใช้โซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร  ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์ลอยน้ำไม่ถึง 2 บาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เทียบกับราคาไฟฟ้าประมาณกว่า 3 บาทซึ่งจะเห็นว่าต้นทุนปรับลดลงมาก

 

นอกจากนั้นควรจะส่งเสริมด้าน EV ซึ่งต้องรวมถึงการส่งเสริมการใช้ภายในประเทศให้มากควบคู่กันด้วยเพราะโอกาสส่งออกอาจจะน้อย ,ส่งเสริมด้านการขนส่งทั้งทางรางและทางน้ำซึ่งประหยัดพลังงานได้มากเพื่อทดแทนทางถนนให้มาก  รวมถึงโรงงานบ้านพักอาศัยและอาคารพาณิชย์สามารถประหยัดพลังงานได้อีกมาก

 

ขณะเดียวกันส่วนที่ไม่ใช่ด้านพลังงานก็มีโอกาสที่จะปรับลดก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น  ด้านเกษตร   การปลูกป่า   การบริหารจัดการด้านขยะ  และที่น่าสนใจ คือ การกักเก็บก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการทดลองอยู่น่าจะเข้ามามีบทบาทในอนาคต

 

"เมื่อตั้งเป้า Netzero carbonในปี 2593 หรืออย่างช้าในปี 2598  นโยบายของรัฐต้องดำเนินการปรับแผน PDP หรือพลังงานทั้ง 5 แผนโดยขั้นแรก ใน 20 ปีข้างหน้าที่กำหนดพลังงานหมุนเวียนไว้ 30 ให้ปรับเป็นอย่างน้อย 50%ขึ้นไป นอกจากนั้นน่าจะใช้ Carbon tax และ Carbon pricing ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะประเทศไทยพูดกันมากแต่ยังไม่ใช้ รวมถึงสนับสนุนพลังงานสะอาดให้มากตามที่รัฐมีนโยบายอยู่แล้ว  และต้องเอื้ออำนวยให้ปรับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงาน ไม่ว่าท่อส่งก๊าซเพราะบทบาทจะลดน้อยลง"

 

“เรามีบทเรียนจากการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพราะฉะนั้น เรื่อง Net zero Carbon อย่าให้ซ้ำรอย ที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป”ศ.ดร.พรายพลระบุ

 

ศ.ดร.พรายพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านศักยภาพของประเทศนั้น  ไทยสามารถใช้วัตถุดิบด้านการเกษตร จึงมีโอกาสใช้วัสดุเหลือใช้อีกมาก และสามารถปลูกพืชพลังงาน  หรือไม้โตเร็ว  สำหรับด้านเทคโนโลยีแม้จะมีความด้อยแต่บริษัทภาคเอกชนมีความสนใจที่จะลงทุนและสนใจพัฒนาเทคโนโลยีอยู่แล้ว  ดังนั้นในอนาคตสามารถที่จะพัฒนาบุคลากรและนำความรู้ความสามารถจากภาคเอกชน ทำให้ไทยมีความพร้อมและทำได้

 

“ขาดอยู่อย่างเดียวคือ ภาครัฐมักจะมองช้าเกินไป  มองแคบ มองไปข้างหน้าน้อยเกินไป และตามไม่ทัน ซึ่งจุดสำคัญที่ต้องเน้นคือปีหน้าต่างประเทศจะจัดเก็บภาษีฟอสซิลแล้ว"ศ.ดร.พรายพล