กอนช. จับตา “สถานการณ์น้ำ-เขื่อน” รับมือ “พายุดีเปรสชัน"

19 ก.ค. 2564 | 15:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 22:48 น.

อัพเดท สถานการณ์น้ำ-เขื่อน วันที่ 19 ก.ค.64  รับมือ “พายุดีเปรสชัน"  คาดทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน  แต่ละแห่งมีปริมาณน้ำเท่าไร มีน้ำเกิน เสี่ยงน้ำล้น กี่อ่าง จังหวัดไหนเสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม เช็กเลย

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุดีเปรสชัน" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น.ของวันนี้ (19 ก.ค. 64) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.0 องศาตะวันออก

 

ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป ส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น นั้น

      

สมเกียรติ ประจำวงษ์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  และในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ข้อมูลอัพเดท สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564  ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 36,073 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,627 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 44 มากกว่าปีที่ผ่านมา 1,306 ล้าน ลบ.ม. ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำ 7,535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 มากกว่าปีที่ผ่านมา 99 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปริมาตรน้ำใช้การ 839 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุน้ำใช้การ

 

สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าเกณฑ์ควบคุมในปัจจุบัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร และอ่างฯ จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ   ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และมีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ รวมทั้งเร่งเก็บกักน้ำสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าต่อไป

 

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ โดยใช้ฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่าในช่วงฤดูฝนนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ส่วนใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน กันยายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน โดย   อ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำมีแนวโน้มมากกว่าร้อยละ 100 ของความจุเก็บกักและมีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ ได้แก่ อ่างฯ จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯ ลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา  อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ จ.ระยอง

 

นายสมเกียรติ  กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ ฝนตกต่อเนื่อง อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม   มี 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด แม่ฮ่องสอน ,ตาก,เชียงใหม่, เชียงราย,พะเยา,น่าน,พิษณุโลก,เพชรบูรณ์,ชัยภูมิ,กาญจนบุรี, ระยอง,จันทบุรี และตราด  ซึ่งได้มีการสั่งการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย ดังกล่าวแล้ว 

 

เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อ่างฯแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 48 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุ อ่างฯภูมิพล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,125 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุ อ่างฯแม่จาง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 22 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุ อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,154 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุ

 

เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย

 

"บึงบอระเพ็ด" มีปริมาณน้ำเก็บกัก 12 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุ อ่างฯทับเสลา มีปริมาณน้ำเก็บกัก 25 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุ อ่างฯศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 11,051 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุ อ่างฯวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,573 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุ ซึ่งจะมีการติดตามเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ.

 

กรมชลประทาน รายงานสภาพการเพาะปลูกข้าว (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.64)

  • การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ เพาะปลูกทั้งสิ้น 5.56 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.39 ล้านไร่ คงเหลือการเก็บเกี่ยว 0.17 ล้านไร่

 

  • การเพาะปลูกข้าวนาปีปี 2564 ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี16.65 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 11.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 67.26 ของแผนฯ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปี7.97 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 5.32 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.81 ของแผนฯ