ระนองลุยฉีด"ซิโนฟาร์ม"3,000โดส ปกป้องโรงงานรับเมียนมา"เปิดอ่าว"ทำประมง

16 ก.ค. 2564 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 21:05 น.

ระนองระดมวัคซีน เตรียมลุยฉีดกลุ่มทั่วไปต่อ ส่วนซิโนฟาร์ม 3,000 โดส ในโควต้าสภาอุตสาหกรรม ทะยอยปักเข็มให้ลูกจ้างโรงงานต่าง ๆ แล้ว สอดรับมาตรการดูแลการค้าสัตว์น้ำที่เมียนมาเริ่มเปิดอ่าวเพื่อการประมง  เพื่อป้องกันระบาดในโรงงานที่อาจทำสายพานการผลิตสะดุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ยังมีสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดในโรงงาน ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงดำเนินการทุกช่องทางเพื่อจัดหาทั้งวัคซีนหลักเพื่อฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน สั่งจองซื้อวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเร่งฉีดให้ลูกจ้างในโรงงานต่าง ๆ เพื่อมิให้เกิดการติดเชื้อจนกระทบสายพานการผลิต 
นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง     

ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดระนอง ครั้งที่ 43/2564  เมื่อ14 ก.ค. 2564 ที่ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง  มีนายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธาน   พร้อมด้วยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง นายแพทย์อรุณ สัตยาพิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง และคณะกรรมการโรคติดต่อเข้าร่วมประชุม  
    

สำหรับยอดการฉีดวัคซีนจังหวัดระนอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง รายงาน ปัจจุบันมียอดฉีดรวม 91,037 โดส ซึ่งในตอนนี้จังหวัดระนองได้เก็บยอดการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมและระนองพร้อมเกือบครบแล้ว และในลำดับต่อไปจะได้จัดคิวให้กับกลุ่มอื่น ๆ เข้ารับการฉีด 

    

นพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง

ส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มที่ทางสภาอุตสาหกรรมจัดหา จำนวนกว่า 3,000 โดส ได้ประสานทาง รพ.ระนองในการเริ่มฉีดกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยวัคซีนซิโนฟาร์ม มีการเว้นระยะ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งหากฉีดครบ 2 เข็มสามารถเดินทางเข้าจังหวัดระนองได้ตามมาตรการของจังหวัด 
    

สำหรับการพิจารณาเรื่อง การบริหารจัดการวัคซีนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว เหมาะสม ทั่วถึง ซึ่งสูตรการฉีดวัคซีนตามมติการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 7/2564 ลว 12 กรกฎาคม 2564 เข็มที่ 1 เป็น Sinovac เข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca ห่างจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ จะสร้างภูมิได้รวดเร็วมากขึ้น ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ Delta ได้ใกล้เคียงกับผู้ได้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม 
    

ซึ่งจังหวัดระนอง พบโควิด-19 สายพันธุ์ Delta เบื้องต้น 1 ราย จากการส่งตรวจจำนวน 30 ราย กรณีผู้ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็ม 1 ให้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca เช่นเดียวกัน โดยมีระยะห่าง 12 สัปดาห์ ส่วนการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กรณีฉีด Sinovac 2 เข็ม วัคซีนกระตุ้นเป็น AstraZeneca หรือ Pfizer เบื้องต้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโควิด-19  
          

จังหวัดระนองยังได้ออกมาตรการการค้าสัตว์น้ำ กำชับให้เคร่งคัดในมาตรการด้านสาธารณสุข ที่วางแนวปฎิบัติไว้อย่างละเอียด ทั้งมาตรการทั่วไปในการตรวจคัดกรองผู้ปฎิบัติหน้าที่  มาตรการกรณีมีผู้ติดเชื้อ มาตรการในการดำเนินการซื้อขายสัตว์น้ำ การตรวจเชิงรัก การฉีดวัคซีน โดยผู้ประกอบการต้องจัดให้แรงงานเข้าฉีดวัคซีนตามแผนบริหารจัดการวัคซีนของจังหวัดระนอง และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกสาหรับแรงงาน การทำฐานข้อมูล และการตรวจติดตาม
    

นพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง

ระนองลุยฉีด\"ซิโนฟาร์ม\"3,000โดส ปกป้องโรงงานรับเมียนมา\"เปิดอ่าว\"ทำประมง

โดยก่อนหน้านี้นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงงานอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) ระหว่างจังหวัดระนองกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม  
    

ผู้ว่าฯระนอง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในจังหวัดระนอง ที่ทวีความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพบผู้ติดเชื้อในแรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ต้องหยุดประกอบกิจการ ซึ่งเกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้น 
    

จังหวัดระนอง เล็งเห็นความสำคัญในการขอความร่วมมือในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงงานอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) เพื่อจะร่วมกันลดความรุนแรงของการระบาด โดยควบคุมมิให้แพร่กระจายสู่ชุมชน ลดการปิดโรงงานอุตสาหกรรม 
             

ด้านนางจันทร์จิรา บางเสน อุตสาหกรรมจังหวัดระนอง กล่าวว่า สถานประกอบกิจการโรงงานเป็นอีกภาคส่วนที่ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดระนอง สร้างรายได้ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน หากไม่มีวิธีการป้องกันที่ดีก็อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ผู้ประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดระนอง จึงได้ขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปฉีดให้แก่พนักงาน  โดยทางผู้ประกอบกิจการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐและทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้