“พาณิชย์ลำพูน”ทำแผนลำไยปี64 เพิ่มช่องขายออนไลน์ ออฟไลน์

15 ก.ค. 2564 | 11:21 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 18:28 น.

“พาณิชย์จังหวัดลำพูน”เตรียมมาตรการรองรับผลผลิตลำไยปี 64 เร่งกระจายออกนอกพื้นที่ เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ประสานเซลส์แมนจังหวัดอื่นช่วยระบาย จัดหาพื้นที่ในห้าง นิคมอุตสาหกรรม ร้านค้าธงฟ้า และจับมือเซลส์แมนประเทศจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์

นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูนได้เตรียมมาตรการรองรับผลผลิตลำไยปีการผลิต 2564 ที่กำลังออกสู่ตลาด โดยได้เตรียมโครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต จังหวัดลำพูน ปี 2564 มีเป้าหมายผลผลิตจำนวน 1,200 ตัน เพื่อเชื่อมโยงกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตในอัตราไม่เกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

“พาณิชย์ลำพูน”ทำแผนลำไยปี64  เพิ่มช่องขายออนไลน์ ออฟไลน์

โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องรับซื้อจากเกษตรกรในราคานำตลาดกก.ละ 1.50 บาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 26 ราย เริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-15 ส.ค.2564

  “พาณิชย์ลำพูน”ทำแผนลำไยปี64  เพิ่มช่องขายออนไลน์ ออฟไลน์

ทั้งนี้ ยังจะเพิ่มกิจกรรมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายลำไย ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เชื่อมโยงกระจายลำไยผ่านเครือข่ายสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานภาครัฐไปยังจังหวัดปลายทาง จัดหาสถานที่ ที่ไม่ใช่แหล่งผลิตลำไย ในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่น นิคมอุตสาหกรรม จัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อ-ขายลำไย MOU ล่วงหน้า กับโมเดิร์นเทรด และเตรียมการกระจายลำไย ผ่านร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และโครงการรถเร่โมบาย

อย่างไรก็ตาม ยังได้ปรับกลยุทธ์การการตลาดลำไยเพิ่มเติมให้เข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดลำพูน ทั้งด้านการตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์กระตุ้นความต้องการบริโภค และรณรงค์บริโภคผลไม้ตามฤดูกาล โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ได้ทำการเชื่อมโยงสินค้าลำไย โดยเซลส์แมนจังหวัด ได้ประสานเซลส์แมนประเทศ จัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อผลักดันการส่งออก รวมทั้งได้เพิ่มการแปรรูปลำไยให้หลากหลายมากขึ้น

“พาณิชย์ลำพูน”ทำแผนลำไยปี64  เพิ่มช่องขายออนไลน์ ออฟไลน์

 นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต การจำหน่าย และการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อลำไยอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.2564 เป็นต้นมา และได้แจ้งประสานนายอำเภอทุกอำเภอ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องจากผลิตผลการเกษตรระดับอำเภอ (คพอ.) ดำเนินการติดตามสถานการณ์การรับซื้อและการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อลำไยในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรับซื้อลำไย ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อในช่วงเช้าของแต่ละวันที่มีการรับซื้อ ประสานศูนย์ชั่งตวงวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจรับรองเครื่องคัดขนาดลำไยสดตัดขั้ว (รูดร่วง) พร้อมทั้งตรวจสอบเครื่องชั่งที่ใช้ในการรับซื้อลำไยของผู้ประกอบการ (จุดร่อน) ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด 

 

 สำหรับจังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกลำไย เนื้อที่ยืนต้น 351,167 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 325,972 ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตรวม 335,948 ตัน จำนวนเกษตรกร 54,082 ราย โดยเป็นลำไยในฤดู เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ก.ย. และออกมากช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ผลผลิต 228,022 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 89,434 ตัน หรือเพิ่ม 39.22% และลำไยนอกฤดู เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณช่วงเดือนม.ค.-พ.ค. และช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. ผลผลิต 107,926 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 3,755 ตัน หรือลด 3.48%

“พาณิชย์ลำพูน”ทำแผนลำไยปี64  เพิ่มช่องขายออนไลน์ ออฟไลน์

ทางด้านสถานการณ์การค้า ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ 1.ตลาดจีน เข้มงวดเรื่องการตรวจตู้ขนส่งลำไยหาเชื้อโควิด-19 โดยหากพบเชื้อจะดำเนินการทำลายทิ้งทันที ณ วันที่ 1 ก.ค.2564 ราคาจำหน่ายปลีกลำไยตามเกรด ที่นครเฉิงตู 177.21–216.80 บาทต่อกิโลกรัม 2.ตลาดอินโดนีเซีย ต้องใช้ใบ GAP 25 ไร่ต่อตู้ ในการขอโควตาในการส่งออกลำไย 3.ตลาดมาเลเซีย มีการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 3–17 ก.ค.2564 ทำให้การส่งออกลำไยหยุดชะงัก 4.ตลาดเวียดนาม นำลำไยเกรด B ไปทำลำไยเนื้อสีทอง

ส่วนสถานการณ์ตลาดลำไยจังหวัดลำพูน (ณ 5 ก.ค.2564) ขณะนี้มีผู้ประกอบการเปิดจุดรับซื้อเพียงบางส่วน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย คาดว่าปริมาณลำไยจะออกมากในช่วงกลางเดือนก.ค.2564 โดยมีราคารับซื้อ ณ วันที่ 13 ก.ค.2564 ดังนี้ 1.ลำไยสดช่อ (มัดปุ๊ก) เกรด AA+A ราคา 23-27 บาท เกรด A+B ราคา 15-20 บาท เกรด B+C ราคา 8-12 บาท 2. ลำไยสดช่อ (ตะกร้าขาว) เกรดจีน ทอง 33-34 บาท แดง 31-32 บาท น้ำเงิน 23-26 บาท เขียว 14-15 บาทเกรดอินโด ทอง 23-24 บาท แดง 22-23 บาท น้ำเงิน 18 บาท เขียว 12 บาท และลำไยสด (รูดร่วง) AA 22-24 บาท A 12-14 บาท B 6-7 บาท C 1-2 บาท