เปิดวิสัยทัศน์ MD GGC ป้ายแดง ชู 3 นโยบาย Conviction to Change

28 มิ.ย. 2564 | 20:40 น.
504

เปิดวิสัยทัศน์ MD GGC ป้ายแดง ชู 3 นโยบายการทำงาน Conviction to Change ขับเคลื่อนความมั่นคงทางธุรกิจ สู่อนาคตที่ยั่งยืน

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยมุมมองวิสัยทัศน์การบริหารองค์กรในฐานะกรรมการผู้จัดการคนใหม่ว่า มุ่งที่จะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ GGC และต้องการให้ GGC เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนทั้งในด้านของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม GGC ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อต้องการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ยังคงสานต่อเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยมีนโยบายในการบริหารงานคือ “Conviction to Change” นั่นคือพร้อมที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ตอบสนองด้วยความรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการสร้างความเข็มแข็งจากภายในสะท้อนสู่ภายนอก พร้อมชูกลยุทธ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจทั้ง 3 ด้าน คือ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) และธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคต
    สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น GGC ในฐานะผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ “To be a Leading Green Chemicals Company by Creating Sustainable Value” หรือ “เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน” มีพันธกิจหลักคือการเป็นบริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) ของกลุ่ม GC 
    ซึ่งภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าวประกอบด้วย 3 คีย์เวิร์ดสำคัญ ได้แก่ 1.Leading คือการเป็นผู้นำ ซึ่งในความหมายของ GGC คือจะต้องสามารถวัดผลได้ ,2.Green ความหมาย คือ ผลิตภัณฑ์และธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ3.Sustainable Value สร้างคุณค่าชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 คำเกี่ยวข้องกับ GGC โดยตรง 
    อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการวางแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ประกอบด้วย 
    ระยะสั้น บริษัท ได้มีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้วิกฤตโควิด-19 (Covid-19) ด้วยการปรับวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่นและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย (Work From Home) ออกมาตรการ Lock up ซึ่งเป็นมาตรการการปกป้อง Sensitive Area เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและออกนโยบายให้พนักงานทุกคนรายงานสุขภาพประจำวันของตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามสุขภาพ รวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นด้วยระบบการควบคุมภายในที่ดีและยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล
    ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) แม้ว่าผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลของบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากการเดินทางของประชาชนที่ลดลง บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายและแสวงหาโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลเพื่อใช้ในทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการทำเพื่อเป็นเชื้อเพลิง

ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์
    ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) บริษัทฯ ได้เตรียมการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด ในส่วนของผลิตภัณฑ์เอทานอล เพื่อให้พร้อมสำหรับการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ไปยังธุรกิจปลายน้ำในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care : HPC)
    ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับโครงการในอนาคตที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) รวมไปถึงอยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนใน Bio-Succinic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อนำไปผลิตเป็น Bio-PBS ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดย่อยสลายได้อีกชนิดหนึ่ง
    ระยะกลางถึงระยะยาว บริษัทฯ มองว่า กระแส EV Car ถือเป็นตลาดที่น่าจับตาและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับประเทศไทยภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ASEAN’s EV hub และมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันบนท้องถนนภายในปี 2573
    ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลสู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ด้วยการนำเทคโนโลยี Hydroprocessing เข้ามาปรับปรุงคุณภาพทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
    ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Biochemicals) บริษัทฯ มีแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจที่ใช้ปาล์มน้ำมันและอ้อยเป็นวัตถุดิบ ทั้งรูปแบบของการลงทุนโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตปัจจุบันและการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าเพิ่ม (High Value Products) ชนิดใหม่ โดยมุ่งเน้นการเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ขั้นปลายหลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care) อาหาร (Food) และโภชนเภสัช (Nutraceuticals) 
    ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) บริษัทฯ มีแผนการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ด้วยรูปแบบการร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต
    อย่างไรก็ดี โปรเจ็กใหญ่ของ GGC ในขณะนี้ คือ การขับเคลื่อนโครงการ นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan Biocomplex) สู่การเป็น Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทยแบบครบวงจร  โดยบริษัทฯ ยังคงเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของเอเชียภายในปี 2570 โดยโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่าง    บริษัท จีซีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด (GGC Bio) และ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) 
    ซึ่งโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการต่อยอดสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ประกอบด้วย โรงหีบอ้อย โรงงานเอทานอล โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและผลิตไอน้ำความดันสูง ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างกว่า 91 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร เพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และเคมีชีวภาพ (Biochemicals) ที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน (Synergy Benefit) ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพ และช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทยรวมไปถึงชุมชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กร โดยเชื่อว่าผลกำไรที่แท้จริงของการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่การบริหารองค์กรให้ได้กำไร แต่คือการให้ความสำคัญกับภายนอกทั้งชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกส่วนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกหน่วยงานในองค์กร โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบของโลกด้านความยั่งยืน จากดัชนีวัดความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุลทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม พร้อมได้นำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาวางกลยุทธ์และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 
    และเป็นไปตามแนวทางมาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับสากล โดยในปี 2563 GGC ได้รับที่การจัดอันดับจาก United Nations Global Compact หรือUN Global Compact โดยองค์การสหประชาชาติ  (United Nations; UN) เป็น 1 ใน 3 องค์กรชั้นนำของไทย และ 1 ใน 41 องค์กรระดับโลกให้อยู่ในระดับสูงสุด (LEAD) นับเป็นบริษัทหนึ่งเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี และธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะองค์กรสมาชิกที่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีนโยบายให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นสากล
    นอกจากนี้ GGC ยังได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ เมทิลเอสเทอร์ (B100) หรือ ไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลด Carbon Emission Scope 3 ของ GC Group โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีการปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โครงการปรับปรุงระบบลดความดันไอน้ำและโครงการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ยกระดับการดำเนินงานด้าน CSR สู่ CSV เพื่อสร้างคุณค่าสู่สังคมที่ยั่งยืน มุ่งเน้นกิจกรรมทางสังคมที่มีคุณค่าที่สะท้อนความยั่งยืน สอดรับกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เช่น
    โครงการ RSPO ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาวของเกษตรกร เพื่อให้สามารถดำรงชีพปลูกพืชผลได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับการรับรอง RSPO ภายในปี 2024
    โครงการ Green Health Project การนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มาช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำร่องนำ กลีเซอรีน เกรดอุตสาหกรรมอาหารและยา 99.5 % มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัย ได้แก่ เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถสะท้อนในการนำนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มาพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :