ฝ่าโควิดรอบใหม่ลุย “เมืองการบินอู่ตะเภา” เร่งทำอีเอชไอเอ อีอีซีส่งมอบงานปีนี้

11 มิ.ย. 2564 | 12:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2564 | 12:44 น.
2.0 k

“บีทีเอส” เดินหน้าพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน เร่งทำอีเอชไอเอ คาดอีอีซีเล็งออกหนังสือส่งมอบงานภายในปีนี้ ด้านการบินไทยเร่งรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง ลุยสร้างรันเวย์-อาคารผู้โดยสาร

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เร่ง พัฒนาอภิเมกะโปรเจ็กต์โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน มูลค่า3แสนล้านบาท รับการเดินทางจากนักธุรกิจนักท่องเที่ยวชั้นนำเชื่อมโยงการเดินทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการพร้อมกันในปี2568

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA อยู่ระหว่างการจัดทำมาสเตอร์แพลน (Master Plan) ฉบับสมบูรณ์ให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนธุรกิจเมืองการบิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในปี 2564 และดำเนินการก่อสร้างต่อไป รวมทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่าดำเนินการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้านพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของ บมจ.การบินไทย ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อย้ายอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องบินแล้ว เพื่อใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่

 

 

“ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่การก่อสร้างเมืองการบินภาคตะวันจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อไรนั้น คงต้องรอดำเนินการก่อสร้างควบคู่กับสนามบินอู่ตะเภา โดยในส่วนของการก่อสร้างสนามบินฯนั้น ใช้ระยะเวลาก่อสร้างดำเนินการ 3 ปี ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่จะกระทบต่อโครงการหรือไม่ เรามองว่าสถานการณ์ยังไม่จบคงต้องดูว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินฯใช้เวลาดำเนินการอีกหลายปีกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เราก็หวังว่าเมื่อเปิดให้บริการคงไม่ได้รับผลกระทบแล้ว”

 

 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า ส่วนการการส่งมอบพื้นที่ยังเป็นไปตามแผนคาดว่าจะดำเนินการภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ภายในปี 2565 หลังจากส่งมอบพื้นที่ให้กับ UTA แล้ว

 

 

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท โดยรัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท โดยพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อำกอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร (กม.) ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลักได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร สามารถให้อากาศยานขึ้น-ลง ทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกันสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอดอากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด

 

 

ด้านอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(Automate People Mover, APM) นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างอาคารหอบังคับการบิน (Air Traffic Control Tower) โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่คลังสินค้า, Cargo Village และ Free Trade Zone มีขนาดพื้นที่กว่า 470,00 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center, GTC) มีขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เพื่อให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆเช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้ส่วนพื้นที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้องรวมทั้งงานสนับสนุนอื่นๆ บนพื้นที่ ขนาด1,400 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน

 

 

ขณะเดียวกันด้านโครงการที่เกี่ยวกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็น Aviation Hub คือ ศูนย์การค้า (Commercial Gateway) ขนาดพื้นที่กว่า 400,000ตารางเมตร จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และอาคารสำนักงานโดยทางกลุ่ม BBS หรือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด 

 

 

ทั้งนี้ทางกลุ่มBBS ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,00 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 159 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,00 ตารางเมตรพร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติรวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี

 

 ปีที่41ฉบับที่3,687วันที่13-16มิถุนายน พ.ศ.2564