ชู 6 ประเด็น เวทีเอเปก แก้เศรษฐกิจช่วงโควิด

04 มิ.ย. 2564 | 21:35 น.

​​​​​​​“จุรินทร์”  โชว์วิสัยทัศน์ แก้เศรษฐกิจช่วงโควิด เวทีเอเปก ลั่น 6 ประเด็น พลิกวิกฤติ ใช้โมเดลการค้ายุคใหม่ เจาะตลาด

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทาง ธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ผ่านระบบ Video Conference  กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปครวมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้ากับภาคเอกชนของแต่ละประเทศ โดยมีการแบ่งกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปทั้งหมด 3 กลุ่มกลุ่มแรกแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กลุ่มที่สองการรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิดและกลุ่มที่สามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด และสำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่สองเรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

 

โดยตนได้ให้ความเห็นไปทั้งสิ้น 6 ประเด็น ประเด็นที่ 1 สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ประเด็นที่ 2 ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับมือกับวิกฤตโควิดโดยใช้โมเดลการค้ายุคใหม่ เช่นการค้าออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสให้ SME และ Micro SME มีส่วนส่งออกสินค้าได้ต่อไป ประเด็นที่ 3 ให้เห็นว่าประเทศไทยสนับสนุนการเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศเอเปค

 

หลังจากเกิดโควิดในช่วงปีที่ผ่านมาโดยสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ โดยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเริ่มเปิดโมเดลการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ที่เรียกว่า "ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์" โดยเริ่มเปิดเกาะในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ประเด็นที่ 4 ประเทศไทยจัดสรรให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นโดยสนับสนุนให้มีการขจัดข้อจำกัดในการส่งสินค้าข้ามแดน และประเทศไทยได้ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับยาและเครื่องมือแพทย์จากประเทศต่างๆ

 

 

บรรยากาศที่ประชุม

 

ประเด็นที่ 5 ประเทศไทยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ทั่วถึงโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้เกิดขึ้นในความร่วมมือในระดับภูมิภาค และประเด็นที่ 6 ประเทศไทยสนับสนุนและส่งเสริมการค้าที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น กำหนดให้ BCG โมเดลเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจสำคัญในการขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด

 

" อย่างไรก็ตามภายหลังการหารือมีข้อสรุปหลายประเด็นเช่น ประเด็นที่หนึ่ง มีความเห็นว่าโควิดหรือวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องวัคซีนและการเดินทางข้ามแดนระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้าและนำไปสู่ผลกระทบทั้งภาครัฐและเอกชน ทางออกที่ควรจะเป็นคือการภาครัฐต้องไม่ออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายวัคซีนและสินค้าจำเป็นเพื่อให้ทุกประเทศหรือทุกฝ่ายรวมทั้งผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นได้"

 

ประเด็นที่สองภาคธุรกิจในภูมิภาคยังมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และประเด็นที่สามเอเปคจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาภายใต้ WTO บรรลุผลโดยเร็วรวมทั้งสนับสนุนให้พัฒนาเอเปคซึ่งในรูปแบบความร่วมมือเศรษฐกิจพัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรีหรือ FTA ต่อไปในอนาคต