สุริยะ ยันการอนุญาตสำรวจแร่ ไม่ได้ให้สิทธิเหนือที่ดินใด ๆ

11 มี.ค. 2564 | 21:40 น.

สุริยะ ย้ำชัดการอนุญาตสำรวจแร่ ไม่ได้ให้สิทธิเหนือที่ดินใด ๆ หากเจ้าของพื้นที่ไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถเข้าทำการสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ปรากฏข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์กรณีตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำจะไปยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำต่อนายกรัฐมนตรี ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ (11 มีนาคม 64)  ขอชี้แจงว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญกับการร้องเรียนประเด็นต่าง ๆ มาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นร้องเรียนของกลุ่มประชาสังคมฯ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรงกรณีบริษัทเหมืองทองคำ ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ทับลงบนที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และได้มีการกล่าวว่า จากพยานหลักฐานพบว่า บริษัทเหมืองทองคำได้สิทธิเหนือที่ดิน ส.ป.ก. และ ระบุที่ดิน ส.ป.ก. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศไปนานแล้วนั้น

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รายงานมาแล้วว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จำนวน 44 แปลง ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 ต่อมาบริษัท อัคราฯ ได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 อย่างครบถ้วน 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ร

คณะกรรมการแร่จึงได้มีการพิจารณาคำขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายโดยคำนึงถึงดุลยภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนด้วยความรอบคอบก่อนมีมติให้ความเห็นชอบอนุญาต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563
 

“ขอชี้แจงว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่เป็นการให้สิทธิในการสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ใช่เป็นการอนุญาตหรือการให้สิทธิในการครอบครองพื้นที่  ดังนั้น การเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน หากเจ้าของพื้นที่ไม่ยินยอมให้เข้าสำรวจแร่ ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษก็ไม่สามารถเข้าทำการสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ และผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งในปัจจุบัน ส.ป.ก. ยังไม่มีกฎระเบียบที่จะอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ยังไม่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. มาก่อนด้วย”

สำหรับประเด็นที่ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมฯ ได้กล่าวอ้างถึง บริษัทเหมืองทองคำระบุที่ดิน ส.ป.ก. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้น จากการตรวจสอบรายงานประจำไตรมาสของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัคราฯ ยังไม่พบข้อความที่ระบุว่ามีสิทธิเหนือที่ดิน ส.ป.ก. แต่อย่างใด เพียงแต่ระบุว่าได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ 44 แปลง ซึ่งระบุว่าอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ด้วย ซึ่งข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับเงื่อนไขในการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ คือ การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษไม่ได้เป็นการผูกพันว่าทางราชการจะต้องอนุญาตให้ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษได้ใช้พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท คิงส์เกตฯ ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายของไทยแต่อย่างใด
              “นอกจากนี้ การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ ก็ไม่เป็นการผูกพันว่าทางราชการที่รับผิดชอบพื้นที่ จะต้องอนุญาตให้ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษนี้เข้าใช้พื้นที่ในการสำรวจดังกล่าวด้วย”