เปิดสถิติเก็บภาษีรถเดือน ม.ค. 64 แตะ 5 แสนคัน

26 ก.พ. 2564 | 13:15 น.

กรมขนส่ง เก็บภาษีรถในกรุงเทพฯ เดือน ม.ค.64 เผย 3 อันดับแรก สามารถจัดเก็บภาษีรวมกว่า 5 แสนคัน หนุนประชาชนชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์-แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax หวังอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง

นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก  (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีรถประจำปี สามารถชำระภาษีรถได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยมีช่องทางให้เลือกใช้บริการหลากหลายช่องทาง และสามารถชำระภาษีรถได้ล่วงหน้าก่อนครบอายุภาษี 90 วัน โดยสถิติการให้บริการชำระภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร เดือนมกราคม 2564 มีผู้ใช้บริการจำนวนทั้งสิ้น 520,270  คัน จำแนกเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถประจำปี ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5 มากที่สุด จำนวน 394,654 คัน รองลงมาคือการใช้บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) จำนวน 73,048 คัน ผ่านเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ จำนวน 35,523 คัน ในส่วนของบริการชำระภาษีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax มีผู้ใช้บริการจำนวน 1,185 คัน และบริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) มีผู้ใช้บริการจำนวน 943 คัน นอกจากนี้ ยังมีบริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านหน่วยงานเครือข่าย อาทิ เคาน์เตอร์เซอร์วิสมีผู้ใช้บริการจำนวน 12,809 คัน ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,274 คัน ผ่านแอปพลิเคชัน mPAY และ Truemoney Wallet จำนวน 811 คัน และผ่านธนาคารที่ร่วมโครงการ จำนวน 23 คัน

เปิดสถิติเก็บภาษีรถเดือน ม.ค. 64 แตะ 5 แสนคัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบ IT ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของประชาชนมากขึ้น กรมการขนส่งทางบกจึงพัฒนาบริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเจ้าของรถไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง เช่น เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th, แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, โมบายล์แอปพลิเคชัน mPAY และ Truemoney Wallet ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ รอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน โดยเบื้องต้นยังรองรับเฉพาะรถที่ไม่เข้าข่ายต้องนำรถไปตรวจสภาพ อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่ได้เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ที่ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ อย่างไรก็ตาม สำหรับรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพก่อนชำระภาษีประจำปี กรมการขนส่งทางบกก็ได้พัฒนาช่องทางให้บริการรองรับที่หลากหลายเช่นกัน ทั้งบริการชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถหรือบริการเลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax), ที่ทำการไปรษณีย์, ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก หรือที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด