”คมนาคม” ผุดนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า จ่อนำร่องอีวี 400 คัน พ.ค.นี้

08 ธ.ค. 2563 | 18:29 น.
963

“คมนาคม” เดินหน้านโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ลุยศึกษา 20 ปี นำร่อง 400 คัน ภายในเดือน พ.ค.นี้ หากครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูขสมก.ภายในเดือนธ.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30 %

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) วันนี้ (8 ธ.ค.) โดยระบุว่า อนุกรรมาธิการได้มานำเสนอผลการศึกษาการเปลี่ยนผ่านยานยนต์จากระบบเชื้อเพลิงไปเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าใช้เวลาราว 15 ปีในการเปลี่ยนผ่านระบบเชื้อเพลิงดังกล่าว ขณะที่กระทรวงคมนาคมก็ยืนยันว่าเป็นนโยบายที่สอดคล้องกัน แต่กระทรวงคมนาคมจะใช้เวลาราว 20 ปี เนื่องจากต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งหามาตรการจูงใจ เช่น ปรับลดค่าธรรมเนียมการต่ออายุ   เบื้องต้นอาจเริ่มนำร่องก่อนในรถโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,511 คัน  โดยล็อตแรกจะเริ่มวิ่งรถอีวี จำนวน 400 คัน ภายในเดือน พ.ค.นี้ หากครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูขสมก.ภายในเดือนธ.ค.นี้  หลังจากนั้นจะดำเนินการรถจักรยายนต์รับจ้างสาธารณะและรถแท็กซี่โดยสารสาธารณะ แต่ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงรถยนต์มาเป็นระบบไฟฟ้าในไทยยังมีต้นทุนสูงถึงคันละ 3 แสนบาท ซึ่งไทยก็ต้องเร่งพัฒนาการผลิตโดยขณะนี้มีบริษัทไทยที่สามารถผลิตแบตเตอร์รี่ได้เอง

 

 “ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมาธิการ ได้แสดงความกังวลเกรงว่าในอนาคตประเทศไทยจะสูญเสียตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ หรือ ดีทรอยศ์แห่งเอเชีย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งของไทยมีความได้เปรียบสามารถพัฒนาแหล่งแร่ธาตุเพื่อนำมาใช้ผลิตแบตเตอร์รี่ได้ก่อนแล้ว ซึ่งตนได้ชี้แจงว่า ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการ  รวมทั้งคณะอนุกรรมาธิการได้ขอให้กระทรวงคมนาคมเปิดกว้างในการเข้าประมูลแข่งขันการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ซึ่งตนยืนยันว่ากระทรวงจะมีการกำหนดในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ชัดเจนว่าจะต้องมีการกำหนดสัดส่วน โลคัลคอนเทนต์ (Local Content) ไม่ต่ำกว่า 50% อยู่แล้ว”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า  จากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ หรือ โรดแมพ (Roadmap) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในปี 2573 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด แบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น ระหว่างปี 2563 – 2565 จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่นๆ ประมาณ 6 หมื่น – 1.1 แสนคัน   ระยะกลาง ระหว่างปี 2564 – 2568 เร่งให้มีรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 2.5 แสนคัน และระยะยาวในปี 2573 มีเป้าหมายผลักดันให้มียานยนต์ไฟฟ้าใช้งานรวม 7.5 แสนคันทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 30% ของปริมาณผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี

 

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้รับนโยบายดังกล่าวและเริ่มผลักดันเป็นมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) ด้วยโครงการจัดซื้อ/เช่า รถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่อยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตามแผนดังกล่าว ขสมก.จะเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน โดยจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรบริการที่วิ่งจริง

 อย่างไรก็ตามกระทรวงฯ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า นำร่องเมืองต้นแบบ 6 จังหวัด 6 เส้นทาง ประกอบไปด้วย

1.จังหวัดกรุงเทพมหานคร เส้นทางสาย 137 (รามคำแหง - ถนนรัชดาภิเษก) โดยจากการวิเคราะทางด้านการเงิน พบว่าเส้นทางนี้ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 129.39 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return : FIRR) อยู่ที่ 13.67%

2.จังหวัดเชียงใหม่ เส้นทางเดินรถในเส้นทางระบบขนส่งมวลชนหลักสายสีเขียว (ท่าอากาศยานเชียงใหม่ - ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล) ซึ่งพบว่าเกณฑ์การประเมินทางการเงิน มี NPV อยู่ที่ 31.45 ล้านบาท และ FIRR อยู่ที่ 16.09%

3.จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางเดินรถในเส้นทางระบบขนส่งมวลชนหลักสายสีส้ม (อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี – โรงเรียนสุรนารีวิทยา) มี NPV อยู่ที่ 45.70 ล้านบาท FIRR 21.57% 4. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะสายที่ 1 (วนซ้าย) และ 2 (วนขวา) เริ่มต้นจากศาลากลางจังหวัด มี NPV อยู่ที่ 4.64 ล้านบาท และ FIRR 8.72%

5.จังหวัดชลบุรี เส้นทางเดินรถโดยสารสาย 1 (เส้นทางนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร - สถานีรถไฟชลบุรี) โดยพบว่าเส้นทางนี้มี NPV อยู่ที่ 2.97 ล้านบาท และ FIRR 9.54% และ 6. จังหวัดภูเก็ต เส้นทางเดินรถสาย 1814 (ภูเก็ต – ป่าตอง) มี NPV อยู่ที่ 12.29 ล้านบาท และวิเคราะห์ FIRR อยู่ที่ 10.27% โดยการศึกษาโครงการครั้งนี้ ดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และรัฐลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า 100% โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้าตามอัตรานโยบาย  ทั้งนี้กระทรวงฯ ยังมีการศึกษามาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยมี 2 มาตรการ คือ 1. รถเมล์/รถโดยสารประจำทางพลังงาน เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการ เพิ่มสัดส่วนคะแนนในส่วนของแผนด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่กำหนดไว้ 4 คะแนน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม คาดจะประกาศใช้ในปี 2564 และ 2. รถแท็กซี่พลังงานสะอาด เช่น ขยายอายุการใช้งานสูงสุดถึง 12 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารวบรวมข้อมูล