ดัน “ไฮสปีด” 2 เส้นทาง เชื่อมจีน-อีอีซี

01 พ.ย. 2563 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2563 | 18:51 น.
2.2 k

 “คมนาคม”ดันรถไฟเร็วสูง อีอีซีเชื่อม รถไฟไทย-จีน หลัง จี้รฟท.ส่งมอบ พื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้ทันภายเดือนต.ค.64  

 

 

                การประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูง ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)  นัดแรก ของ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการให้เดินตามแผน ที่คาดว่าสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญาได้ ภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ ในภาพรวมประเมินว่า ทุกหน่วยงานจะแล้วเสร็จทันกรอบเวลากำหนด

 

เพื่อต้องการให้ทุกส่วนที่รับผิดชอบ จัดทำรายละเอียดของแผนอย่างละเอียด กลับมาเสนอ พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทราบว่างานส่วนใดใครรับผิดชอบ และจะมีการดำเนินงานอย่างไร แล้วเสร็จเมื่อใด เพื่อใช้เป็นกรอบแก้ไขปัญหาระหว่างทางในการทำงาน ให้โครงการนี้เสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน ขณะเอกชนเสนอปรับแนวสถานี 2 สถานี คือ สถานีชลบุรี และสถานีฉะเชิงเทรา

 

เรื่องนี้ขอให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พิจารณาด้วยว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างไร โดยการปรับย้ายสถานีดังกล่าว จะต้องมีการจัดทำแผน scenario หรือประเมินสถานการณ์ หากมีการย้ายสถานีจะกระทบต่อแผนงานอย่างไร และได้ประโยชน์อย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบ แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างจะต้องอยู่ในกรอบสัญญากำหนด หากกระทบต่อแผนก็อาจไม่พิจารณาอนุมัติได้

             ดัน “ไฮสปีด” 2 เส้นทาง เชื่อมจีน-อีอีซี

 

 

    ขณะเดียวกัน ยัง เน้นการ เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน พื้นที่อีอีซี ไปยัง จีน   โดยเชื่อมกับ รถไฟไทย-จีน ซึ่งล่าสุด    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในร่างสัญญา 2.3 จ้างรัฐวิสาหกิจตัวแทนแห่งประเทศจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งประเทศจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร  ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

               

 

 

1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ  2.การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3.การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3623