เอกชน เดินรถ "ขสมก." ลุ้น"ครม." เคาะ 28 ต.ค.

25 ต.ค. 2563 | 19:23 น.
767

    จับตาเอกชน ชิงเดือด ทุนจีนจ้องสัมปทานเดินรถ หลังขสมก.โละ รถเมล์เก่า 3,005 คัน ตามแผนฟื้นฟู หนี้ 1.2 แสนล้าน ดีเดย์เข้า ครม. 28 ต.ค.นี้

แผนโละรถเมล์เก่าจำนวน  3,005 คันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมจัดหารถเมล์ใหม่พลังงานไฟฟ้า 2,511 คัน เก็บค่าโดยสาร แบบเหมาจ่าย วันละ 30 บาท ว่าจ้างให้เอกชนเดินรถ หนึ่งในแผนฟื้นฟู หนี้ 1.2 แสนล้านบาท กำลังเป็นที่หมายตาของบริษัทกิจการเดินรถ และผู้ผลิตตัวรถเอกชน หากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ตุลาคม ที่จะถึงนี้

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเอกชนในแวดวงธุรกิจ เดินรถเมล์ มองว่า มี เอกชน 4-5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจีนให้ความสนใจร่วมเดินรถ อีกทั้งยังสามารถผลิตรูปแบบประหยัดพลังงานออกมาเป็นล็อตใหญ่ในราคา ที่ต่ำได้ ซึ่งรายใหญ่เป็นกลุ่มบีวายดี (BYD) บริษัทสัญชาติจีน  

 

นอกเหนือจากบริษัท  ช. ทวี จำกัด (มหาชน) รถบัสสีฟ้าร่วมเดินรถกับขสมก.แม้สามารถผลิตตัวรถไฟฟ้าได้แต่มีข้อจำกัด ผลิตได้คราวละ 100-200 คัน  เช่นเดียวกับ “เจ๊เกียว” บริษัท เชิดชัย  มอเตอร์เซลล์ จำกัด ได้ให้ความสนใจเชื่อว่าหากมีการเปิดประมูลจะเกิดการแข่งขันรุนแรงรวมถึงการเดินรถ   
  
30 บาท แพงไป

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่เคาะออกมา แหล่งข่าว ระบุว่า อัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้า หากขสมก.ยังไม่ปรับเส้นทางเดินรถแบบเชื่อมระหว่างเมืองหรือเป็นระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) รับส่งผู้โดยสารต่อจากรถไฟฟ้าเชื่อมให้ถึงตรอกซอย บ้านเรือนชุมชนที่แจ้งจริงเชื่อว่า จะประสบความสำเร็จยาก เพราะคนกลุ่มใหญ่ มักเป็นคนรายได้น้อย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้บริการตลอดทั้งวัน ให้คุ้มกับ ราคาเหมาจ่าย 30 บาท และอาจเป็นไปได้ว่า ประชาชนที่เคยใช้บริการอาจ ร้องเรียนกระทั่งรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายบางส่วนกลายเป็นค่าโง่กลับมาแทน 

 

จ้างเดินรถ 1.5 พันคัน  

ขณะนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยขสมก. สะท้อนว่า  ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การจะมีการจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน วิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดยขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร  ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน 

 

“ส่วนการปรับแก้ข้อความบางส่วนในร่างแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว จากคำว่า “การเช่ารถ” เป็นคำว่า “การเช่ารถวิ่งตามระยะทาง” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความและรอบคอบในการกำหนดขอบข่ายของแผนฟื้นฟูฯ นั้นได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันกรณีที่มีความคิดเห็นเพิ่มเติมการให้ขสมก.เดินรถบริเวณเส้นทางในพื้นที่ส่วนบุคคลของประชาชนนั้นเราได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเส้นทางถนนแต่ละแห่งว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนความเป็นไปได้ในการเดินรถของขสมก.บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เรามองว่าบางพื้นที่สามารถดำเนินการได้ แต่บางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถนนบางเส้นทางเล็ก อาจไม่สะดวกต่อการเดินรถ ซึ่งจะต้องมีการสำรวจก่อนว่าเป็นอย่างไร”

ยึดราคาต่ำสุด
ก่อนหน้านี้โครงสร้างต้นทุนขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) จากผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงราคา


กลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (E-Bidding) เท่านั้น โดยผู้ประกอบการเอกชนจะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาต่ำสุดกว่าราคากลาง เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคาและได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับขสมก. รวมทั้งรถโดยสารที่ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถประมาณ 1,500 คัน ซึ่งเป็นรถโดยสารแบบชานต่ำอีวี, เอ็นจีวี, หรือรถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีการติดตั้งระบบอีทิคเก็ต, จีพีเอส, ไวไฟ มาพร้อมกับตัวรถ

คัดคุณภาพเอกชน 
 ขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายขสมก.จึงต้องจ้างผู้ประกอบการรถเอกชนที่มีศักยภาพ รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เท่านั้น ในการเดินรถร่วมกับขสมก.ตามความสมัครใจเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของขสมก.และรถร่วมของเอกชนอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะใช้ระบบค่าจัดเก็บโดยสารระบบเดียวกันและเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจาก ขบ.แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติเพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในการยื่นขอรับใบอนุญาต 2.กลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมากและไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้


หากแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ขสมก. ผ่านความเห็นชอบจากที่ (ครม.)  โดยมีระยะเวลาที่ดำเนินการถึงปี 2572 ซึ่งทำให้ผลประกอบการของขสมก.จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ส่วนการสร้างรายได้ ได้ปรับเปลี่ยนการจัดเก็บค่าโดยสารใหม่จากเดิมที่มีการจัดเก็บเป็นช่วงราคาที่ 15-20-25 บาทต่อคน มาเป็น 30 บาทต่อคนต่อวันแทน    

อย่างไรก็ตามจากเดิมที่มีเส้นทางเดินรถกว่า 269 เส้นทางเดินรถ จะมีการปรับเส้นทางใหม่ ของ ขสมก.จำนวน 108 เส้นทาง และรถร่วมจำนวน 54 เส้นทาง รวมทั้งหมด 162 เส้นทาง แบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย เส้นทางหลัก ที่วิ่งให้บริการทิศเหนือ-ใต้และทิศตะวันออก-ตะวันตก จำนวน 40 เส้นทาง, เส้นทางฟีดเดอร์  จำนวน 15 เส้นทาง, เส้นทางด่วนที่ให้บริการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า ท่าเรือ รถโดยสารที่วิ่งให้บริการ จำนวน 24 เส้นทาง, และเส้นทางที่วิ่งเป็นวงกลมเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหลักและเส้นทางด่วน จำนวน  29 เส้นทาง 

หน้า1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3621