ทช.ลุยอีไอเอ ดันสะพานเชื่อมเกาะลันตา-กระบี่

22 ต.ค. 2563 | 17:13 น.
672

ทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เดินหน้าศึกษาอีไอเอ พร้อมคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบสะพาน ทางเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง-ต.เกาะลันตาน้อย จ.กระบี่

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักก่อสร้างสะพาน เปิดเผยว่า  ทช.ได้จัดประชุมสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม โครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (อีไอเอ) เส้นทางเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมีนายวลาวัต บินอุมาร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงสร้างพิเศษ สำนักก่อสร้างสะพาน เป็นประธานในพิธีเปิดประชุม นายไกวัล วัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบโครงสร้าง สำนักสำรวจและออกแบบ พร้อมผู้แทนจากสำนักก่อสร้างสะพาน และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 150 คน เข้าร่วมประชุม ณ อาคารโรงยิมเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกลาง ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่  ทั้งนี้ได้เชิญกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตำบลคลองยาง และเกาะกลาง มาร่วมรับฟังสรุปผลการคัดเลือกแนวทางและรูปแบบโครงการเส้นทางเชื่อมเกาะลันตา (ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย) ตลอดจนพื้นที่ศึกษาโครงการ ขั้นตอน กระบวนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ เพื่อนำมาประกอบใช้พิจารณาการศึกษาของโครงการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้ครบถ้วนมากที่สุด

ทช.ลุยอีไอเอ ดันสะพานเชื่อมเกาะลันตา-กระบี่

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ทช.ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว แบ่งเป็น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ, การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (2 กลุ่ม), การประชุมสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม (2 กลุ่ม) และคาดว่าในเดือนธันวาคม 2563 ทช.จะจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 (2 กลุ่ม) เพื่อนำเสนอแนวสายทาง รูปแบบโครงการ พร้อมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

ทั้งนี้ แนวเส้นทางที่ได้คัดเลือกจากผู้เข้าร่วมประชุมนั้น มีพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 กม.ที่ 26+620 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 1,950 เมตร รูปแบบโครงการสรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งนอกจากจะสะดวกต่อการก่อสร้างแล้ว โครงสร้างดังกล่าวยังมีความทนทานต่อการเกิดสนิม/กระแสลม ซ่อมบำรุงง่าย มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม มีราคาค่าก่อสร้าง/บำรุงรักษาที่ต่ำกว่ารูปแบบอื่น มีผลกระทบต่อการฟุ้งกระจายของตะกอนดินและระบบนิเวศวิทยาทางน้ำน้อยที่สุด