งบปี 64 สะดุด! ไม่กระทบ เมกะโปรเจ็กต์

16 ก.ย. 2563 | 12:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2563 | 19:44 น.
1.4 k

“คมนาคม” ไม่หวั่น หลังงบปี 64 เบิกจ่ายไม่ทัน ต.ค.นี้ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่ง เต็มสูบ จัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทันทีที่พรบ.มีผลใช้ ด้านทล.-ทช. มั่นใจไม่กระทบโครงการใหม่ คลังย้ำ ช้าแค่ 1 เดือน ไม่กระทบเบิกจ่าย

 

การประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 กันยายน สำนักงบประมาณ ได้รายงานหลักเกณฑ์เงื่อนไขให้ใช้งบประมาณปี 2563 ไปพลางก่อน เนื่องจากการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เบิกจ่ายตามความจำเป็นหรืองบผูกพันที่อนุมัติได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของงบประมาณที่ตั้งไว้ของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 และจะมีการประชุมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระ 2-3 วันที่ 16-18 กันยายนนี้

 

 

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบปี 2564วงเงิน 231,924.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.64% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 197,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นวงเงิน 34,775.09 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่านับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้าติดต่อกัน 2 ปี  ต่อเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า กรณีงบประมาณปี 2564 ล่าช้า ไม่มีผลกระทบต่อแผนการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากกระบวนการของปฏิทินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ช่วงไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.) ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำปกติ

 

อาทิ เงินเดือน ขณะที่งบประมาณด้านการลงทุนโครงการต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการเบิกจ่ายงบประมาณ จะดำเนินการในไตรมาส 2 (ม.ค.) เป็นต้นไป ระหว่างนี้ จึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมการด้านการจัดซื้อจัดจ้างหรือการประกวดราคา เพื่อให้พร้อมหาก พ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที

               

 

 

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า คาดว่า จะใช้งบปี 2564 ไม่ทันต้นปี หรือ 1 ต.ค เท่านั้น ซึ่งแต่ละหน่วยงาน ต้องใช้งบปี 2563 ไปก่อนกรม คาดจะใช้งบราว 2-3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้งบปี 2564 ได้รับจัดสรรราว 1.25 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 1.20 แสนล้านบาท รายจ่ายประจำปี 5,688 ล้านบาท งบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง 5.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานปีเดียว 4.6 หมื่นล้านบาท งบผูกพันใหม่ 10,850 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 493 ล้านบาท เบื้องต้นโครงการที่กรมฯ ขอรับจัดสรรงบปี 2564 ประมาณ 4,733 โครงการ เช่น โครงการทางแยกต่างระดับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมากับทางหลวงชนบท โครงการทางเลี่ยงนครสวรรค์ด้านตะวันออก ฯลฯ

              

 “เชื่อว่าการเบิกจ่ายงบฯไม่ทันในครั้งนี้ไม่กระทบต่อโครงการเดิมแน่นอน ขณะที่โครงการใหม่กว่าเราจะเริ่มลงนามสัญญาคาดว่าเป็นช่วงเดือนพ.ย. นี้ ปัจจุบันเร่งรัดเบิกจ่าย เนื่องจากงบปี 2563 สามารถเบิกจ่ายราวเดือนมี.ค.ส่วนงบปี 2564 ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยกรมวางแผนประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) คาดว่าทุกโครงการของปีงบ 2564 สามารถลงนามสัญญาได้ทันภายในเดือนธ.ค.นี้               

 

สอดคล้องกับนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่ระบุว่า โครงการฯที่ขอรับจัดสรรงบฯ ราว 4,000-5,000 โครงการ เช่น โครงการถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อำเภอเทิง-จุน จ.เชียงราย, พะเยา โครงการถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ โครงการถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอน1) ฯลฯมองว่าไม่กระทบ เพราะมีระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งจะพอดีกับงบ 2564 เบิกจ่ายได้

              

 

 

  ไม่ต่างกับนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) มองว่า เป็นเรื่องปกติในการจัดทำงบประมาณที่มีความล่าช้า ทั้งนี้มีโครงการที่กรมฯ ขอรับจัดสรรงบปี 2564 ราว 92 โครงการ ซึ่งจะลงนามสัญญาในปีหน้า เรามองว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 จะเร็วกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีงบประมาณ 2563 กว่าจะได้ใช้งบนั้น ประมาณเดือน ก.พ. 2563

 

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ไม่มีโครงการใหม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรมฯได้รับจัดสรรงบไม่มาก  ทั้งนี้ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า งบล่าช้าเป็นผลลบมากกว่าผลดี เพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุน สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ ผลักดันงบปี 2563 ที่ยังไม่ได้ใช้ออกมาให้เร็วที่สุด รวมถึงเม็ดเงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบเยียวยา 6 แสนล้านบาท ที่ยังมีเงินเหลือ 2 แสน ล้านบาท และเงินจากงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ที่ยังเหลืออยู่ 3 แสน ล้านบาท งบประมาณของหน่วยงานราชการที่นายกรัฐมนตรีเรียกคืน 10-20% ให้นำออกมาใช้ได้ยามจำเป็น

ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3610 

ข่าวที่ข้อง

ผ่างบปี 64 ยุทธศาสตร์ชาติด้านไหน "รุ่ง-ร่วง"

 

เช็กที่นี่ "งบ64" 10 กระทรวงไหน ได้งบ “มากสุด-น้อยสุด”