อัปเดต "แทรมโคราช" ถึงไหนแล้ว

31 ส.ค. 2563 | 16:17 น.
696

รฟม.เร่งสรุปผลรับฟังความคิดเห็น แทรมโคราช วงเงิน 7.1 พันล้าน ลุยศึกษาออกแบบ-ทำอีไอเอ จ่อชงบอร์ดรฟม.เคาะผลปีนี้ เดินหน้าเปิดประมูลปี 2565 หั่นค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อคนต่อเที่ยว หวังลดภาระประชาชนชาวโคราช

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยในฐานะประธานจัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน (กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ) ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (แทรมโคราช) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ซึ่งมีผู้แทนภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน ว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมา มูลค่า 7,115.48 ล้านบาท จะนำผลจากการประชุมครั้งนี้ไปใช้พิจารณาประกอบการจัดทำแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป ขณะเดียวกันเตรียมดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในเดือนกันยายน 2563 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายในปีนี้ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนพฤษภาคม 2564 จะเริ่มเปิดคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ส.ค.2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568

 

อ่านข่าว เตรียมประมูลรถไฟแทรมโคราช

อ่านข่าว ดัน"รถไฟฟ้า " แสนล้าน บูม 7 เมืองใหญ่

ขณะเดียวกันแทรม จังหวัดนครราชสีมา  มูลค่าโครงการ 7,115.48 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,180.21 ล้านบาท ค่างานก่อสร้างโยธา 2,254 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้า 2,260.36 ล้านบาท  ค่างานจัดหาขบวนรถไฟฟ้า 995.54 ล้านบาท  ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง. 176.59 ล้านบาท คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ. จำนวน 24,266 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี  ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR)  13.11%

 

นายธีระพันธ์  กล่าวต่อว่า ด้านการประมาณรายได้นั้น จะเสนอการจัดเก็บค่าโดยสารในรูปแบบตามระยะทาง อัตราค่าบริการ 10+1 กิโลเมตร (กม.) หรือ ค่าโดยสารอยู่ที่ 11-20 บาทต่อคนต่อเที่ยว เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน จังหวัดนครราสีมา มีรายได้อื่นๆ เช่น รายได้จากการเช่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาบริการจอดรถ  คิดเป็น 5% ของรายได้ค่าโดยสาร เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ที่เปิดให้บริการในปี 2568 อยู่ที่ 9,920 คนต่อวัน

อัปเดต \"แทรมโคราช\" ถึงไหนแล้ว

ทั้งนี้โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในโครงการที่ รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้ดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Netcost) โดยจะเริ่มก่อสร้างในเส้นทาง สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นลำดับแรก โครงการนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) ระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 21 สถานี ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยกประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฏฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานีชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง