"สมหมาย ภาษี" ชี้ ทรุดแค่ 1 ปี แต่ต้องเดินหน้าอีก 3 ปี ศก.ไทยกลับสู่ที่เดิม

18 มิ.ย. 2563 | 17:02 น.
2.8 k

“สมหมาย ภาษี” อดีตขุนคลัง ชี้ โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยทรุด 1 ปีแต่ต้องเดินหน้าใช้เวลาอีก 3 ปีเพื่อจะกลับมาสู่ที่เดิม

นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นำเสนอบทความเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 โดยวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เมื่อได้ฟังคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า “ถ้าข้าพเจ้าแพ้การ เลือกตั้งก็มีอย่างอื่นที่ต้องทำ” ทำให้มองเห็นว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศที่เป็นผู้นำ ประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา จำเป็นจะต้องเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมืองและของตัวเอง และต้องคิดถึงอนาคตของตนเองไว้ล่วงหน้าเสมอ ซึ่งต่างจากผู้นำของประเทศไทยเราที่ยึดอยู่แต่ อัตตา คิดเรื่องของบ้านเมืองได้แค่รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เป็นอย่างมาก

ตอนนี้ใครๆที่ติดตามการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างก็พอจะมองออกว่า จากการเจอภาวะวิกฤตเพียง 2 เรื่อง คือเรื่องการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศที่ยังไม่ยุติลงง่ายๆเกี่ยวกับการ เหยียดผิวสีที่เกิดจากการที่ตำรวจเข่นฆ่าผู้ต้องหาผิวดำ George Floyd ที่ไม่มีทางสู้ และเรื่อง การแพร่ระบาดอย่างมากของโควิด 19 รอบสอง ที่ปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนนี้ ก็พอจะทำให้เห็นชัดว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือในอีก 6 เดือนข้างหน้า อนาคตที่จะเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งของทรัมป์เหลือแสงแคริบหรี่เต็มที่แล้ว

ที่ยกเรื่องการเมืองมากล่าวเปิดบทความในวันนี้ ก็เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ผู้นำของ ประเทศ คือ บุคคลที่สำคัญที่สุดที่จะนำพาประชาชนทั้งประเทศไปในทิศทางใดๆก็ได้ ยิ่งประเทศ ที่เจ็บป่วยมานานร่วม 10 ปี อย่างประเทศไทย เมื่อต้องมาเจอวิกฤตโควิด 19 ซึ่งทุกคนได้เห็น ฤทธิ์เดช และยอมรับกันแล้วว่า วิกฤตครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าวิกฤต เศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศเราต้องมีผู้นำที่เก่งและฉลาด รอบรู้ มานำพาประเทศให้พ้นจากการป่วยไข้ที่เอาตัวไม่ค่อยรอดในขณะนี้ ให้ฟื้นไข้แข็งแรง กว่าเดิมได้โดยเร็ว

เป็นที่แน่ชัดว่า การทรุดตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 นี้ จะทำ ให้ GDP ของประเทศในปี 2563 นี้ ต้องหดตัวไม่ห่างจาก -10% อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี เศรษฐกิจไทยจึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด 19 ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศต้องถูกนำพาโดยผู้นำที่ยอมรับได้ของประชาชนเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วอาจต้องถูไถไปถึง 4-5 ปี

อยากจะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การที่คนไทยซึ่งชินกับการมีเสรีภาพที่จำกัดอยู่แล้วได้ ช่วยเสียสละความสุขและเสรีภาพทั้งมวลเพื่อช่วยรัฐบาลหยุดโควิด 19 ได้ผลอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ความสำเร็จในการแก้ปัญหาโควิด 19 นี้ ต้องยกให้กับท่านนายกรัฐมนตรีของเราด้วย แต่ผมก็สงสารและเห็นใจท่านมาก เพราะท่านสามารถทำความดีให้ประเทศชาติได้ในหลายเรื่อง แต่จริงๆกลับไม่ค่อยมีประชาชนยกย่องสักเท่าไหร่ อันนี้ไม่นับพวกหน้าม้าทั้งหลายของท่านนะครับ ทั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งท่านก็มักจะกระทำสิ่งที่ไม่น่าจะทำในบางเรื่องพร้อมๆกัน ให้ปิดบังสิ่งที่ดีที่ท่านได้กระทำ เช่น กรณีการปราบปรามโควิด 19 นี้ ท่านก็ได้พยายามยึด พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปจนเกินความจำเป็น เป็นต้น น่าเสียดายจริงๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลังโควิดเศรษฐกิจไทย จะไม่เหมือนเดิม

ไหนๆก็มาถึงการผ่อนคลายในเรื่องเสรีภาพและการดำเนินธุรกิจของประเทศในเฟส 4 แล้ว ถือว่า ได้มีการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนถ้วนหน้าอย่างดีมากแล้วก็อยากให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกับอนาคตข้างหน้าให้ดี เราไม่ต้องพูดถึงอดีตว่า ประเทศไทยเรานั้นป่วยเรื้อรังมาเป็นสิบปีแล้วและมีจุดอ่อนทำให้ล้าหลังประเทศระดับใกล้เคียงกันไปมากแค่ไหน ขอให้ท่านมองจากจุดนี้จากช่วงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ไปจนถึง 3 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันประเทศไทยเราทรุดหนักผมเองที่คลุกคลีอยู่กับตัวเลขและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจตลอดเวลาเชื่อว่าปี 2563 นี้เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวเหมือนกับประเทศอื่นๆทั่วโลกแต่จะหนักกว่าประเทศในระดับใกล้เคียงกัน เพราะประเทศเรามีอาการป่วยมานาน ลองมาดู ตัวเลขกัน

เอาเป็นว่าปี 2563 นี้ GDP ไทยจะทรุดถึง -10 % ปีหน้า 2564 แม้ไม่มีโควิด 19 รอบสอง เศรษฐกิจประเทศไทยจะฟื้นตัวได้เล็กน้อย 1-2% ไม่ถึงกับติดลบ ปี 2565 เกือบเข้าสู่อาการปกติ GDP อาจโตได้ 2-3% และปีที่สาม 2566 เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งถือว่าดีมาก รวมกัน 3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ 10% ทำให้ประเทศ กลับมาอยู่ที่เดิมคือ GDP จะกลับมาสู่ฐานเดิมในปี 2562 ที่มีมูลค่าของ GDP ตามตัวเลขของ สภาพัฒน์ จำนวน 16,876 พันล้านบาท หรือให้จำได้ง่ายๆก็ 16.9 ล้านล้านบาท

ผมว่าเราทำได้แค่นี้ถือว่าดีมากแล้ว เพราะยังไงๆก็จะยังไม่มีพรรคการเมืองไหน หรือผู้นำคนไหนที่จะสามารถฟันฝ่าทำการปฏิรูปประเทศให้โตขึ้นได้สักเท่าไหร่ ในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังมองไม่เห็นว่า ภาคข้าราชการประจำที่เป็นแกนหลักจะถูกผลักดันให้พัฒนากันอย่างไรให้มีศักยภาพดีกว่าทุกวันนี้ ยิ่งการเมืองขาดธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์ให้เห็นอยู่เช่นทุกวันนี้ ข้าราชการก็มีการเอาอย่างกันมากขึ้นด้วย

เอาเป็นว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อย่างเก่งก็แค่สามารถดึงให้ GDP ในปี 2566 มีมูลค่า 16.9 ล้านล้านบาท เท่ากับ GDP ในปี 2562 แล้วมาดูว่า เราจะเห็นอะไรบ้างในอีก 3 ปีข้างหน้า

ประการแรก คนจนของประเทศที่มีสถิติเห็นชัดอยู่ในขณะนี้ว่ามีกี่ล้านคนจะยิ่งจน ลงไปกว่าเดิม เพราะรายได้ประชาชาติที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564 - 66) เพื่อให้ GDP กลับฟื้นมาเท่าเดิมในปี 2562 นั้น จะตกอยู่ในหมู่คนชั้นกลางและคนรวยมากกว่าคนจน เพราะรัฐบาลไม่เคยมีมาตรการในการกระจายรายได้ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีให้เห็น กระทรวงการคลังก็คงไม่สามารถคิดนโยบายและมาตรการใหญ่ๆ ออกมาได้ เพราะที่ผ่านมา สองสามปีนี้ก็เชี่ยวชาญแต่เฉพาะมาตรการแจกเงินคนจนเท่านั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ตามมา คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่กำลังจะสูงกว่า 80% ของ GDP จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอีกปีละ 1.5% เป็นอย่างน้อย และแน่นอนที่สุดปัญหาสังคมที่มีมากขึ้น และเลวร้ายลงทุกวัน ก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงตามมา

ประการที่สอง รัฐบาลจะถึงทางตันในการกู้เงินมาใช้จ่ายในงบประมาณประจำปีต่อจากนี้เนื่องด้วยรายได้จากภาษีอากรที่จะเก็บได้แต่ละปีจากนี้ไปอีก 3 ปี จะไม่เพิ่มขึ้นจากที่เคยเก็บได้ถึง 2.563 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 แต่ความต้องการในการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายประจำปียิ่งมีมากขึ้น งบที่ต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างมากผิดปกติ ตั้งแต่ปีหน้าคืองบใช้หนี้เงินกู้ของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาและเยียวยาประชาชนในปีนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลก็มีภาระ ต้องใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่แล้ว

อย่าลืมว่า ภาระหนี้ระยะยาวที่เป็นของเก่าที่รัฐบาลต้องรับมามีมากอยู่แล้ว นับตั้งแต่หนี้ เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของ FIDE จากภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ยังมีภาระหนี้อยู่ถึง 750,000 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่อาจเหลือภาระหนี้ที่ต้องชำระอีกไม่น้อยกว่า 350,000 ล้านบาท และมาคราวนี้ภาระหนี้โควิด 19 ที่รัฐจะต้องรับใช้ หนี้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปอีก 1 ล้านล้านบาท

ผลที่จะเกิดขึ้นจากความบีบคั้นทางการคลังภาครัฐก็ คือ จะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมา ชดเชยงบประมาณการขาดดุลแต่ละปีมากขึ้นแบบเอาไม่อยู่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่ สามารถทำได้ตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ตามปกติรัฐบาลไทยบริหารหนี้ของประเทศชาติไม่ต่างจากการบริหารหนี้ของ คนจนทั้งประเทศหรือธุรกิจทั่วไปเขาทำกันนั่นแหละ คือในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดตั้ง งบประมาณชำระหนี้ครบถ้วนทั้งต้นและดอกเบี้ย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความต้องการกู้เงิน ใหม่ที่เป็นหนี้ใหม่เพื่อชดเชยการคลังขาดดุลที่มากขึ้นทุกปีนั้น จะรวมวงเงินกู้ที่กู้มาเพื่อ ใช้หนี้เก่าในปีงบประมาณนั้นส่วนหนึ่งเข้าไปด้วยทุกปี โดยคนทั่วไปไม่เคยได้รู้เห็นกัน

ในปีงบประมาณประจำปี 2563 นี้ นอกจากเงินกู้พิเศษตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้วยังมีเงินกู้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตั้งไว้อีกจำนวน 469,000 ล้านบาท ซึ่งยังไงเสียรัฐบาลต้องกู้เต็มตามนั้น แต่ในปีงบประมาณประจำปี 2560 ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563 หรือในอีก 3 เดือนครึ่งข้างหน้านี้ซึ่งจากการคาดการณ์ผลการจัดเก็บรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย และวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ลงตัวยังไม่มีการสรุปชัดเจนจากรัฐบาล แต่เชื่อได้ว่า ความต้องการเงินกู้เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลต้องเพิ่มขึ้นจากปีนี้มากทีเดียว อย่างน้อยๆก็ต้องเป็นวงเงินกู้ถึง 600,000 - 700,000 ล้านบาท คำถามที่ต้องตั้งตาดูกันตั้งแต่วันนี้ก็คือ รัฐบาลนี้จะฝ่าทะลุ (Break Through) กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ที่ออกมาสมัยรัฐบาลนี้เองได้อย่างไร

รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่อาจมีอัศวินผู้กล้าหาญเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม จะต้องยอมจำนนต่อรายจ่ายมากหลายที่จำต้องจัดงบประมาณเพิ่มให้นับตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2564 นี้ เป็นต้นไป ที่สำคัญคืองบชำระหนี้ที่มีแต่เพิ่ม งบค่าบำเหน็จ บำนาญ งบค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการเกษียณ และงบค่าสวัสดิการเรื่องสุขภาพให้แก่ คนจนทั่วประเทศ งบผูกพันด้านโครงการคมนาคม เช่น ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ทั้งหลาย และ งบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร แม้ไม่มีการสั่งซื้ออาวุธใหม่อีก 3 ปี แต่งบผูกพันการซื้อ ในปีที่ผ่านๆมาที่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายก็มีมากอยู่ แค่นี้รัฐบาลก็อ่วมแล้ว

ประการที่สาม สุดท้ายไม่เกิน 3 ปีข้างหน้าหนี้สาธารณะภาครัฐที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ดังกล่าวที่ว่าไม่ให้เกิน 60% ของ GDP นั้นจะต้องเป็นอย่างแน่นอน แล้วรัฐบาลจะฝ่าทะลุกฎหมายสำคัญนี้อีกเรื่องได้อย่างไร เรื่องนี้จะเป็นความเป็นความตายของประเทศไทยเชียวละ

ขอเริ่มต้นช้าๆให้เห็นว่า ตอนนี้ที่กำลังดำเนินการกู้เงินของรัฐบาลตามพ.ร.ก. พิเศษ กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทยังไม่นับเงินกู้ก้อนนี้เข้าไป ข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2563 หนี้ สาธารณะของไทยคงค้างมีจำนวน 7.186 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของ GDP

หนี้สาธารณะประกอบด้วยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่คือหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการคลังขาดดุลซึ่งมีมาตลอดทุกปี ต่อมาก็เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อชดใช้ความเสียหายจาก วิกฤตที่จำกันได้ คือ วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 วิกฤตจำนำข้าวเปลือกในปี 2555 - 56 และวิกฤตโควิด 19 ที่กำลังเกิดขึ้น ต่อมาก็คือหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่กู้เองรับผิดชอบเองและที่รัฐบาลประกัน เช่น หนี้ของบริษัทการบินไทยก่อนเกิดเรื่องเข้าสู่ศาลล้มละลาย หนี้ของ ปตท. หนี้ของ รฟม. หนี้ของการรถไฟ ขสมก. เป็นต้น และรายการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน เช่น หนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ หนี้ของธนาคาร SME หนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออก เป็นต้น

ตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวโยงกับหนี้สาธารณะคือ GDP ซึ่งปี 2562 GDP ของไทยมีมูลค่า 16.876 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2563 ที่ทุกสถาบันคาดการณ์ว่า จะลดลงมากพอควรโดยผมเห็นว่า จะไม่หนี -10% ซึ่งก็ถือว่า เป็นการทรุดตัวอย่างหนักที่สุด และมีความเห็นว่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาและทำงานหนักอีก 3 ปี (2564 - 66) เป็นอย่างน้อย เศรษฐกิจจึงจะฟื้นและค่อยๆขยายตัวได้เท่ากับระดับเดิมในปี 2562 คือ ประมาณ 16.876 ล้านล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินการธนาคารถึงเห็นต่างไปบ้างแต่ก็คงอยู่ในระนาบนี้แหละ

แต่ว่าภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจะต้องสูงขึ้นแน่ๆและไม่ใช่น้อยด้วย ถ้าจะประมาณการเฉพาะหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการคลังขาดดุล (Deficit Financing) ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ใน 3 ปีข้างหน้า (2564 - 66) แบบอนุรักษ์นิยมหน่อย ปี 2564 จะไม่น้อยกว่า 620,000 ล้านบาท ปี 2565 อาจเป็น 660,000 ล้านบาท ปี 2566 อาจเป็น 720,000 ล้านบาท รวม 3 ปีจะเท่ากับ 2,000,000 ล้านบาท (2 ล้านล้านบาท)

หวนกลับมาดูจำนวนหนี้สาธารณะจากรายงานของสำนักบริหารหนี้ในขณะนี้ที่เท่ากับ 439% ของ GDP นั้น มีจํานวนทั้งสิ้น 7.186 ล้านล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ถ้าหักยอดชำระหนี้เงินต้นคืนแต่ละปีประมาณปีละ 150,000 ล้านบาท ชําระช่วง 3 ปี จะเหลือภาระหนี้ 6.736 ล้านล้านบาท และเมื่อนําเงินกู้สู้โควิด 19 เร็วๆนี้ที่กําลังเบิกจ่ายจํานวน 1 ล้านล้านบาท เข้าไปบวกยอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2563 จํานวน 0.469 ล้านล้านบาท เข้าไปบวกยอดกู้ชดเชยการขาดดุลในช่วง 3 ปีข้างหน้า จํานวน 2 ล้านล้านบาท เข้าไปและยอดกู้เงินสุทธิของรัฐวิสาหกิจและ รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินใน 3 ปีข้างหน้าที่จะเพิ่มอีกประมาณปีละ 5% ของภาระหนี้ ทั้งสองรายการในปัจจุบันซึ่งจะมีจํานวนเพิ่มอีก 1.233 ล้านล้านบาท ดังนั้น ยอดหนี้สาธารณะทั้งหมดตอนสิ้นปี 2566 ก็จะมีจํานวนถึง 11.038 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับ GDP ปี 2566 ที่จะโตมาเท่า GDP ของปี 2562 คือ จํานวน 16.876 ล้านล้านบาท จะเห็นว่า สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในตอนนี้ที่ต่ําแค่ 43% จะเพิ่มขึ้นเป็น 65% หรือเพิ่มขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของสัดส่วนในตอนนี้

การที่หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงแค่ 3 ปีจะเพิ่มขึ้นจาก 43% ของ GDP เป็น 65% ของ GDP สัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 22% ในช่วงสั้นอย่างนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ ต่อธุรกิจและต่อประชาชนเป็นแน่ ทั้งในด้านเครดิตเรตติ้งของประเทศ ด้านการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ ทั้งลงทุนจริงและลงทุนด้านการเงินในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ที่จะค่อยๆหดตัวให้เห็น ประเทศไทยเราจะต้องถอยหลังไปอีกนานโดยจะเห็นได้ชัดเจนใน 3 ปีข้างหน้านี้แหละ