"โควิด-แล้ง"ฉุดเชื่อมั่นอุตฯ กุมภาฯต่ำสุดรอบ 21 เดือน

19 มี.ค. 2563 | 15:41 น.
547

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม กุมภาพันธ์ 63 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจรอบด้าน ทั้งโควิด ภัยแล้ง เบิกจ่ายงบล่าช้า สภาอุตฯ เสนอรัฐเพิ่มมาตรการควบคุมโควิด-19 และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.2      ในเดือนมกราคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามีสาเหตุจากความกังวลต่อการชะลอตัวและอุปสงค์ และกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า ขณะที่ปัญหาภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย

\"โควิด-แล้ง\"ฉุดเชื่อมั่นอุตฯ กุมภาฯต่ำสุดรอบ 21 เดือน

 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,209 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 65.8 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทยและภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลงทั้งในเดือนปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า

 

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ร้อยละ 48.6 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าทำให้กระทบต่อและการลงทุนภาครัฐ, อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก ร้อยละ 48.2 และราคาน้ำมัน ร้อยละ 32.1 ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในลักษณะทรงตัว ร้อยละ 19.8

\"โควิด-แล้ง\"ฉุดเชื่อมั่นอุตฯ กุมภาฯต่ำสุดรอบ 21 เดือน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 98.1โดยลดลงจาก 99.4  ในเดือนมกราคม 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 45 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ       ในประเทศเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการและสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะยาว เช่น มาตรการทางด้านภาษี