ที่ดินหมอชิตต้นทุนพุ่ง บีบเอกชนเร่งสร้าง
ที่ดินหมอชิตต้นทุนพุ่ง บีบเอกชนเร่งสร้าง
-10 พ.ค.60- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3260 ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า ธนารักษ์ จี้บางกอก เทอร์มินอลเร่งผุดโปรเจ็กต์ โครงการพัฒนาที่ดินหมอชิต เหตุต้นทุนราคาที่ดินเพิ่มเกือบ 45% หลังล่าช้ากว่า 20 ปี ชี้พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์หดลงตามผังเมือง
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนถูกครม.มีมติโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า เดือนมิถุนายนหรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ จะนำโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิตเก่าจำนวน 63 ไร่ รูปแบบมิกซ์ยูส มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงร่างสัญญาสัมปทานระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังและบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด หากครม.เห็นชอบก็ลงมือได้ทันที
ความคืบหน้าล่าสุดกรมเร่งปรับร่างสัญญา ตามอัยการเสนอแนะต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มาตรา 72 ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานพิจารณาเร็วๆนี้ อาทิ การเช่าช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิม การเชื่อมทางเข้า-ออกของกระทรวงคมนาคม
สำหรับพื้นที่พัฒนาในโครงการนี้มีประมาณ 8 แสนตารางเมตร ในจำนวนนี้มอบให้กรมการขนส่งทางบกใช้ประโยชน์ 1 แสนตารางเมตร และการพัฒนาได้ปฏิบัติตามข้อบังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปัจจุบัน เนื่องจากแผนงานและการเซ็นสัญญา ต้องนับหนึ่งใหม่ ทำให้พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์จะลดลง เมื่อเทียบกับสัญญาเดิม ที่เคยกำหนด ให้สร้างได้ถึง 1 ล้านตารางเมตร ตามผังเมืองรวมกทม.เก่าที่ยังอิงกับกฎหมายควบคุมอาคาร ปี 2537-2538 ที่กำหนดให้สร้างได้ 10 เท่า ของแปลงที่ดิน
ประกอบกับราคาประเมินที่ดินปรับสูงขึ้น ทำให้มูลค่าโครงการสูงขึ้น จากเดิมเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนประเมินไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท เท่ากับเพิ่มขึ้นกว่า 44% เหตุนี้ กรมธนารักษ์จึงต้องเจรจากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนว่าจะต้องปรับรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดี โดยรูปแบบภายในจะเป็นมิกซ์ยูสเช่นเดิม ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ โรงแรม เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวเสริมว่า ได้ตกลงกับบริษัทเอกชนเรียบร้อยแล้วเรื่องผลตอบแทน ซึ่งบริษัทเอกชนต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ควรเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ศักยภาพของที่ดินเพิ่มมูลค่าขึ้น รวมถึงมูลค่าลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น ส่วนระยะเวลาเช่า คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 ปี ตามพ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่ออสังหาริมทรัพย์ฯ เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ของกรมที่ดินหรือ 30 ปี ต่ออายุเพิ่ม 10 ปี เป็นเวลา 2 ครั้ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างคร่อมบนอาคารจอดและจรของบีทีเอส และพัฒนาที่ดินบริเวณด้านหน้าซึ่งเป็นที่จอดรถฟรีของกทม.ในปัจจุบัน
ขณะที่ค่าชดเชยฐานราก กรมธนารักษ์ได้จ่ายให้กับบีทีเอสกว่า 1,000 ล้านบาทแทนเอกชนไปก่อน ซึ่งเงื่อนไขสัญญา เอกชนจะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับการรื้อย้ายเข้าพื้นที่จะต้องย้ายที่จอดรถซึ่งกทม.เช่าออกทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เจรจาวันที่ 19 พฤษภาคม ชงบอร์ดรัฐร่วมทุนเอกชน
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ กล่าวเสริมว่า วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะนำร่างสัญญาเข้าสู่คณะกรรมการ ตามมาตรา 72 อีกครั้งหากผ่านก็จะส่งต่อไปยังอัยการ และเสนอ ครม.เห็นชอบ จากนั้นกรมจะเซ็นสัญญากับเอกชน รวมถึงการออกแบบก่อสร้างและยื่นอีไอเอ ซึ่งแผนพัฒนา 5 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา