ทศวรรษมหากาพย์ชิงอำนาจ: ศึก ธปท.-คลัง แย่งบอร์ดแบงก์ชาติ

10 ต.ค. 2567 | 20:08 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 22:21 น.

กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา การแย่งชิงเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กับกระทรวงการคลังที่อยู่ภายใต้เงาการเมือง เกิดขึ้นมาโดยตลอด

ล่าสุดการคัดเลือกประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย ท่ามกลางการชิงพื้นที่อำนาจระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งตำแหน่งสำคัญในองค์กรที่มีความอิสระทางการเงิน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมายาวนาน

นับตั้งแต่มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2551 เพื่อสร้างความเป็นอิสระให้กับ ธปท. การคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. ก็มักมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและ ธปท. อยู่เสมอ โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งหลายครั้ง

ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช “หมอเลี๊ยบ” ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขัดคุณสมบัติ

ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ "หมอเลี้ยบ" เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้มีความพยายามเสนอชื่อ "พรชัย นุชสุวรรณ" อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานบอร์ด ธปท. แต่เกิดปัญหาเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกและตัวผู้ได้รับการเสนอชื่อเอง

คณะกรรมการคัดเลือกชุดแรกประกอบด้วย นายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน และกรรมการอีก 6 คน ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต, นายสมใจนึก เองตระกูล, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ และนายมนู เลียวไพโรจน์

อย่างไรก็ตาม พบว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม และบางคนมีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย ธปท. มาตรา 28/1 ที่กำหนดว่ากรรมการคัดเลือกต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือมีส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องยกเลิกการแต่งตั้ง

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ขณะที่นพ.สุรพงษ์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กำหนดโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

 “เหม่าเต่า”ผงาดยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. อีกครั้ง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ มี ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงคลัง เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก

ผลการคัดเลือกครั้งนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ "หม่อมเต่า" ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด ธปท. คนแรกภายใต้กฎหมายใหม่ โดยเป็นชื่อที่ได้รับการเสนอจากทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นจุดที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหาจุดร่วมกันได้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ตั้งแต่ 2 เมษายน 2552 - 1 เมษายน 2555

"หม่อมเต่า" VS “ดร.โกรง” ยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของหม่อมเต่าสิ้นสุดลง เกิดการชิงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ระหว่าง "หม่อมเต่า" กับ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ "ดร.โกร่ง"

คณะกรรมการคัดเลือกชุดนี้ ประกอบด้วย ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน และกรรมการอีก 6 คน ได้แก่ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล, นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์, นายพรชัย นุชสุวรรณ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายสวัสดิภาพ กันทาธรรม และ นายปรีชา อุทธวัชร์

แม้ว่าหม่อมเต่าจะมีประสบการณ์และผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่สุดท้าย ดร.โกร่งก็ได้รับเลือก ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะความใกล้ชิดกับรัฐบาลในฐานะ "กุนซือ" เศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง"

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

กระบวนการคัดเลือกครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขาดความโปร่งใสและถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่สุดท้ายดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2555

อย่างไรก็ตาม การดำรงตำแหน่งของนายวีรพงษ์เป็นไปในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากท่านมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมาย

ยุคข้าราชการประจำนั่งประธานบอร์ดธปท.ลดความขัดแย้ง

จากนั้น ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการแต่งตั้ง ดร.อำพน กิตติอำพน หรือ “ดร.กบ” ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ในขณะนั้น(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี ) เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธปท. ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 และต่อมาในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของดร.อำพน อีกครั้ง

ดร.อำพน กิตติอำพน

การเปลี่ยนแปลงครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561หลังจากดร.อำพน ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้แต่งตั้ง ดร.ปรเมธี วิมลศิริ อดีตเลขาธิการสศช. ในขณะนั้น  เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และเมื่อครบวาระในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นวาระที่สอง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2564

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ

การแต่งตั้งข้าราชการประจำเข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงนี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการลดความขัดแย้งและสร้างความเป็นกลางให้กับตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.

ศึกชิงอำนาจครั้งใหม่: 3 ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.

ล่าสุด การคัดเลือกประธานและคณะกรรมการ ธปท. ชุดใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง โดยมีผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมด 9 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ ธปท. 6 คน และกระทรวงการคลัง 3 คน

ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ที่ถูกจับตา 3 ราย ได้แก่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อายุ 64 ปี นักกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกุลิศ สมบัติศิริ อายุ 61 ปี อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งทั้งสองรายได้รับการเสนอชื่อจาก ธปท. 

สุรพล นิติไกรพจน์

ส่วนอีกรายคือ"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อายุ 66 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลัง

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

อย่างไรก็ตามการคัดเลือกครั้งนี้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส่งผลให้กระบวนการต้องยืดเยื้อออกไป

คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พร้อมด้วยอดีตข้าราชการระดับสูงจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย:

  • นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
  • นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  • นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  • นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  • นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

ความเห็นที่แตกต่างกันในคณะกรรมการสรรหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องขอเวลาตรวจสอบประวัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้การพิจารณามีความรอบคอบที่สุด

ปฎิเสธไม่ได้ว่าการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ ประเด็นความขัดแย้งหลักมาจาก ข้อกังวลว่าการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลปัจจุบัน อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินของธปท. ที่สำคัญคือมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นความพยายามในการเพิ่มอิทธิพลของฝ่ายการเมืองต่อ ธปท. ในขณะที่การเสนอชื่อจาก ธปท. อาจเป็นความพยายามในการรักษาความเป็นอิสระขององค์กร

แม้ว่าจะมีความพยายามในการสร้างความเป็นอิสระให้กับ ธปท. ผ่านการปรับปรุงกฎหมายในปี 2551 แต่ในทางปฏิบัติ การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง การคัดเลือกครั้งนี้จึงเป็นบททดสอบสำคัญว่า ธปท. จะสามารถรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินได้มากน้อยเพียงใด

ท้ายที่สุด ไม่ว่าผลการคัดเลือกจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือการสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นอิสระของ ธปท. และการประสานงานกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน