อาหาร-สินค้าออนไลน์โต ดันขยะพุ่งทั่วไทย กทม.มากสุด 1.2 หมื่นตัน/วัน

05 มิ.ย. 2568 | 05:30 น.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ปริมาณขยะชนิดต่าง ๆ ของเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะขยะมูลฝอยชุมชนที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของสังคมเมืองและเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจุบันปริมาณขยะกลุ่มไหน มีปริมาณมากที่สุดและพื้นที่ที่มีปริมาณขยะมากที่สุดอยู่ตรงไหน และแผนลดปริมาณขยะในปี 2568 เป็นอย่างไร นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจ

ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

สถานะขยะมูลฝอยไทย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเป็นกลุ่มที่ต้องโฟกัสมาก โดยภาพรวม 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2565 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 25.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 26.95 ล้านตัน ในปี 2566 และ ปี 2567 เพิ่มเป็น 27.20 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 74,529 ตัน/วัน โดยพบว่ามีปริมาณขยะอาหารเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ประมาณ 10.01 ล้านตัน รองลงมาเป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) เกิดขึ้นประมาณ 2.88 ล้านตัน

สำหรับพื้นที่หรือจังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร โดยปี 2567 มีประมาณ 12,800 ตัน/วัน ถูกคัดแยกและใช้ประโยชน์ประมาณ 4,000ตัน/วัน และขยะมูลฝอยประมาณ 8,800 ตัน/วัน ถูกขนส่งไปยังศูนย์รองรับขยะมูลฝอยของกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อ่อนนุช ศูนย์หนองแขม และศูนย์สายไหม

อาหาร-สินค้าออนไลน์โต ดันขยะพุ่งทั่วไทย กทม.มากสุด 1.2 หมื่นตัน/วัน

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ช่วงหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด และวิถีการบริโภคของประชาชนที่เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคแบบ Take away การสั่งอาหาร-สั่งของทางออนไลน์ จึงพบขยะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวจำนวนมาก

เมื่อดูองค์ประกอบของขยะมูลฝอย จะพบขยะอาหารถึงร้อยละ 37 ขยะพลาสติกร้อยละ 29 จะเห็นได้ว่าขยะมากกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นขยะ 2 ประเภทนี้ ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอย 2 ประเภทนี้ได้ ก็จะลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นได้เป็นจำนวนมากช่วย ลดปัญหาการกำจัดขยะ และผลกระทบจากการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กำจัดถูกต้องแค่ 22%

นางสาวปรีญาพร กล่าวถึง ของเสียอันตรายจากชุมชนว่า ในปี 2567 มีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้น 685,999 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 0.8 (ปี 2566 มีปริมาณ 680,386 ตัน) เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) 445,899 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่น ๆ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 240,100 ตัน (ร้อยละ 35)

โดยมีของเสียอันตรายจากชุมชนเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้อง 152,017 แบ่งเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ 104,913 ตัน และกำจัด 47,104 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่เกิดขึ้นได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง ร้อยละ 22.16 จำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน โดยผลักดันและขับเคลื่อนให้หน่วยงานดำเนินงานตามรูปแบบที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแยกทิ้ง ณ ต้นทาง เพิ่มกลไกการรวบรวมและเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์หรือกำจัดอย่างเหมาะสม ลดภาระการจัดการของภาครัฐ รองรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่สนับสนุนพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้จะต้องผลักดันและยกระดับการเป็นศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนและซากผลิตภัณฑ์ในระดับจังหวัด สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ยกระดับสถานประกอบกิจการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะในการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ ครบวงจร

กากอุตสาหกรรมยังพุ่งต่อเนื่อง

ส่วนทางด้านปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย (Non-Hazardous Waste)) ในปี 2567 มีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศและเข้าสู่ระบบการจัดการ รวมทั้งหมด 24.39 ล้านตัน จำแนกเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.63 ล้านตัน และ กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 22.76 ล้านตัน

ข้อมูลจากร่างรายงานสถานการณ์มลพิษประเทศไทย พ.ศ. 2567 พบว่า โรงงานบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมมีการกระจายตัวในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ โดยภูมิภาคที่มีศักยภาพการรองรับและการกระจายตัวของโรงงานบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออก รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาภาพรวมสัดส่วนการกระจายตัวของโรงงานบำบัดกำจัดกากของเสีย อุตสาหกรรมภาพรวมของทั้งประเทศ พบว่าอัตราส่วนจำนวนโรงงานผู้ก่อกำเนิด (Waste Generator : WG) ต่อโรงงานผู้รับดำเนินการ (Waste Processor : WP) เท่ากับ 30 :1

โชว์แผนลดขยะปี 68

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงแผนงานและเป้าหมายการลดปริมาณขยะของ คพ. ในปี 2568 ว่าตามแผนปฏิบัติการด้านจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) มุ่งเน้นให้มีการจัดการที่ต้นทางเพื่อส่งเสริมให้มีการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยให้มากที่สุด เพื่อลดขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดขั้นสุดท้ายให้เหลือ น้อยที่สุดภายใต้แนวคิด “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” แต่ “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้น สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศที่จะ ก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 80 (คัดแยกและนำไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 36 และกำจัดถูกต้อง ร้อยละ 44) ภายในปี 2570