เสียงสะท้อน“คนกรุง” จํากัดความเร็วรถ ไม่เกิน 60 กม./ชม.

26 ธ.ค. 2567 | 06:00 น.
13.7 k

เสียงสะท้อน“คนกรุง” จํากัดความเร็วรถ ไม่เกิน 60 กม./ชม. : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

KEY

POINTS

 

  • ราชกิจจาฯ ประกาศ จํากัดความเร็วรถ ไม่เกิน 60 กม./ชม. บนถนนทุกสายใน กทม. ยกเว้นเฉพาะถนนใน 13 เส้นทาง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 24 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป 
  • “คนกรุง”ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา พร้อมเห็นว่าคงจะลำบากในการมาจำถนนเส้นไหนจำกัดความเร็วเท่าไร และขอให้ทำป้ายเตือนไว้ให้ชัดเจน ฯลฯ 
  • “ตำรวจ”แจงเหตุผลต้องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ เน้นวินัยจราจร ให้เกิดความปลอดภัย 195 ประเทศทั่วโลก ก็จำกัดไม่เกิน 60 กม./ชม.
     

 

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** ขอไปว่าด้วย “ประเด็นร้อน” ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะ “ผู้ใช้รถใช้ถนน” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. หลังได้มีประกาศจากทางตำรวจซึ่งดูแลการจราจรในพื้นที่เมืองหลวง “จํากัดความเร็วรถ ไม่เกิน 60 กม./ชม. บนถนนทุกสายใน ยกเว้นเฉพาะถนนใน 13 เส้นทาง” ซึ่งประกาศดังกล่าวได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อค่ำวันที่ 23 ธ.ค. 2567 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป 

ประกาศดังกล่าว ลงนามโดย พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจนครบาล และในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เรียกว่า “ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจํากัดความเร็วและห้ามใช้เสียง ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567” โดยในข้อ 4 ได้จํากัดอัตราความเร็วของรถ ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนทุกสายในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้น ถนน 13 สาย ประกอบด้วย 1.ถนนวิภาวดีรังสิต 2.ถนนบางนา-ตราด 3.ถนนศรีนครินทร์ 4.ถนนพหลโยธิน 5.ถนนรามอินทรา 6.ถนนราชพฤกษ์ 7.ถนนบรมราชชนนี 8.ถนนกัลปพฤกษ์ 9.ถนนร่มเกล้า 10.ถนนสุวินทวงศ์ 11.ถนนแจ้งวัฒนะ 12.ถนนพระรามที่ 3 และ 13.ถนนศรีนครินทร์ - ร่มเกล้า (ตัดใหม่)

*** ภายหลังมีประกาศดังกล่าว ได้มีเสียงสะท้อนตามเพจของ “สื่อมวลชน” ที่เป็นสื่อกระแสหลัก เป็นความเห็นทั้งจาก คน กทม. และ คนจังหวัดใกล้เคียง ที่มีภารกิจต้องเดินทางเข้าเมืองหลวงบ่อยๆ "ว.เชิงดอย" ขอประมวลความคิดเห็นของแต่ละคนมานำเสนอให้เห็นถึงความคิดเห็น หรือ ความรู้สึก ดังนี้ “ตี 1- ตี 5 ถ้าต้องวิ่ง 60 คนป่วยคงไม่รอด, ถ้าอยากให้วิ่งแค่นี้ ก็ควรห้ามผลิตและใช้รถยนต์ เกิน 1,000 cc, สำคัญต้อง revise ป้ายจำกัดความเร็วให้เห็นชัดทุกเส้นถนนที่จำกัดความเร็วต่างกัน ให้เหมือนสากล เพราะคงจะลำบากในการมาจำถนนเส้นไหนจำกัดความเร็วเท่าไร, ต้องมีป้ายบอกด้วยนะว่านี่เขตใช้ความเร็วเท่าไหร่ บนถนน ตลอดจนกว่าคนจะชิน อย่าติดแต่เฉพาะกล้องเพื่อปรับ ป้ายบอกความเร็วก็จำเป็นเช่นกัน, ขับกาก ขับแช่ เสี่ยง ฝ่า ค่อม ไม่ให้สัญญาณ เอาแค่นี้ให้เนียนก่อน 

บางคนก็มีความเห็นว่า “ถ้าทำป้ายเตือน ให้เห็นชัดเจน เมื่อจะเข้าเขตบังคับใช้ อย่างชัดเจน จะช่วยได้เยอะเลย ขอแค่อย่าเอาเปรียบประชาชน, รัดเข็มขัดการจราจรไทย หวังว่าจะทุเลาอุบัติเหตุที่นับวันจะสร้างสถิติเจ็บตายในอัตราเร่ง รัดเข็มขัดโดยติวเข้มด้วยระเบียบ กฎ หยุมหยิมนักขับ นักบิดต่างๆ ไม่ให้ขับโดยเสรี แต่พวกเขาก็ประมาทโดยสภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งมอมเมา และการดิ้นรนที่พาให้กังวลถึงวันพรุ่ง จนอยากจะลืมชีวิต, คราวนี้เดือดร้อนปริมลฑลละ ต้องมาทำความเร็วชดเชยเพื่อให้ทันเวลาที่เสียไปในกทม. อุบัติเหตุปริมลฑลจะมากและรุนแรง, สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ช่วยจัดระบบ ระเบียบด้วย นะ อย่าปล่อยสะเปะสะปะ, แล้วถ้าห้ามจริง จับพวกสส. ที่มีรถนำด้วยนะ เกินร้อยทุกคัน, นี่แก้ตรงจุดแล้วใช่มั้ยนี่ ควรไปจัดการพวกขับสร้างปัญหา กับที่ไม่เปิดไฟเลี้ยว รถขับย้อนศร พวกแซกเลนก่อนถึงทางแยกทางร่วมสิ เพราะพวกนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุและรถติด, ใบสั่งต้องพิมพ์เพิ่มด่วน, จราจรยิ้มเลย เข้าทางทำมาหากิน, จำกัดอย่างอื่นก่อน, กฎหมายเพื่อการหากิน”

*** ต่อมา พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. ซึ่งรับผิดชอบงานจราจร ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลในการจำกัดความเร็วรถ 60 กม./ชม. ในพื้นที่ กทม. ว่า ก่อนหน้านี้บังคับกำหนดความเร็วจากไม่เกิน 80 กม./ชม. เหตุผลหลักก็คือ ต้องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ เน้นวินัยจราจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะ กทม. มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นอันดับต้นของเอเชีย และฝ่ายเกี่ยวข้องซึ่งไม่ได้มีแค่ตำรวจ ได้ศึกษาพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาก่อนนี้แล้ว มีเหตุผลและความจำเป็นที่อยากให้ กทม. จำกัดความเร็วเหมือนต่างประเทศ เพราะตอนนี้ 195 ประเทศทั่วโลก ได้บังคับใช้ความเร็วในเขตเมือง เหลือน้อยกว่า 60 กม./ชม. แต่ยังมีเหลือเพียง 14 ประเทศในโลกนี้ ที่ยังไม่บังคับใช้เรื่องความเร็วในเขตเมือง รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย

พล.ต.ต.ธวัช ชี้แจงต่อว่า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ หรือ เทศกาล ที่ทำให้ถนนโล่งก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ตามหลักก็คือ การออกประกาศเพื่อต้องการลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัย โดยการบังคับใช้จะยกเว้นกับถนน 13 เส้น ที่เชื่อมปริมณฑล ที่ไม่ได้บังคับใช้เพราะเห็นว่า ยังใช้ความเร็วในขีดความสามารถที่จะบังคับรถให้ปลอดภัยได้ จึงให้คงไว้ที่ 80 กม./ชม.  ส่วนรถจักรยานยนต์ ถือว่าถูกบังคับอยู่ในข้อบังคับนี้เช่นเดียวกัน 

“ถ้าเราไม่แก้เรื่องความเร็ว ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาบ้านเรา เขาก็ต้องการเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การจราจร ความปลอดภัยทางถนน นี่ก็เป็นเหตุผลหลักด้วยเช่นกัน ถ้าเราอยากเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุ เราต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งทางเราไม่ได้อยากบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย สำหรับการจับความเร็วก็ไม่ใช่ลักษณะที่ตำรวจ จะไปขวางรถ หรือ จับความเร็ว เราก็จะใช้เทคโนโลยีกล้องเข้ามาช่วยการทำหน้าที่ และมีเครื่องออกใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ” 

*** นั่นคือ ความเห็นของตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการจราจร ส่วนประชาชนจะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ออกมา ก็ต้องปฏิบัติตาม สำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้อง เสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ อย่าให้เป็นอย่างข้อครหาที่ว่า “เปิดช่องให้ตำรวจหากิน” ก็แล้วกัน...