สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ ทุกๆ ท่าน ช่วงที่ผ่านมาคงจะได้เห็นข่าวตามหน้าสื่ออยู่บ้างเกี่ยวกับเหตุอัคคีภัย ตลอดจนเรื่องผลกระทบที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เราตระหนักดีว่า การกำกับดูแลความปลอดภัยของโรงงานในนิคมฯ คือหัวใจหลักของเรา
ในช่วงฤดูร้อนนี้ผมได้สั่งการให้ผู้อำนวยการทุกนิคมฯ และท่าเรืออุตสาหกรรม เข้าตรวจตรา ตรวจสอบ ทำความเข้าใจกับโรงงาน ในเรื่องการเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บรักษาวัตถุดิบ และสินค้าคงคลัง ที่อาจจะ มีจุดเผาไหม้ต่ำ หรืออาจติดไฟง่าย
และให้มุ่งเน้นแนะนำโรงงานที่มีกระบวนการระบายควันทางปล่องในกระบวนการผลิต ให้ระมัดระวังการสะสมของคราบตะกรัน หรือการเสื่อมสภาพของกระบวนการผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การติดไฟ และทำให้เกิดอุบัติภัยโดยไม่คาดคิดได้
ขณะเดียวกัน กนอ. ได้กำหนดมาตรการและแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน ด้านความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ไว้ 2 มาตรการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุอย่างรอบด้าน ได้แก่ 1. มาตรการเชิงป้องกันในการบริหารจัดการความปลอดภัย 2. มาตรการระงับเหตุในระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ
สำหรับมาตรการแรก คือ เชิงป้องกันในการบริหารจัดการความปลอดภัย (ก่อนเกิดเหตุ) ได้แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1) กำกับดูแลตามกฎหมาย โดยพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกัน ก็มีการกำกับดูแลโรงงานที่เข้าข่ายความเสี่ยง 12 ประเภท ที่มีความเสี่ยงสูงตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 และจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยง และกำกับดูแลโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัย กำกับดูแลโรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM) ที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) ในปริมาณครอบครองเท่ากับหรือมากกว่าปริมาณที่กำหนดในบัญชีท้ายข้อบังคับ
2) ด้านการส่งเสริมความปลอดภัย โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและเครือข่าย พัฒนาเครือข่ายด้านความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม (Safety Club) และ เครือข่ายทาง Social Media เช่น กลุ่ม Line/ Facebook รวมทั้งเครือข่ายในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนทรัพยากรในการควบคุมเหตุการณ์ (Mutual Aid Agreement)
3) การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินของสำนักงานนิคมฯ และ สำนักงานท่าเรือฯ โดยมีการจัดทำและทบทวนแผน ตลอดจนวางแผนตรวจสอบ และทดสอบความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ในการระงับเหตุฉุกเฉิน เช่น รถดับเพลิง หัวจ่ายน้ำดับเพลิง (Fire Hydrants) เป็นต้น ให้มีประสิทธิภาพ
4) ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล กนอ. มีระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการระงับเหตุ (Decision Support System: DSS) ในการจัดเก็บข้อมูลสนับสนุนการระงับเหตุ มีระบบ PSM-eservice รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลของโรงงานที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามข้อบังคับฯ PSM และแผนที่ความเสี่ยงโรงงาน (Risk Map) โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยโรงงาน โดยการปักหมุดข้อมูลโรงงานลงในแผนที่ เพื่อแสดงภาพรวมจุดเสี่ยงโรงงานของแต่ละนิคมฯ
และ 2. มาตรการระงับเหตุในระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ แบ่งเป็นแผนระหว่างเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน และเมื่อเหตุการณ์ยุติ โดยให้ตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
อย่างที่ได้เล่าไปตอนต้นว่า การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยคือ หัวใจหลัก ดังนั้น ถ้าโรงงานประกอบกิจการได้ดี ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวินของพวกเราทุกคนก็ดีตามไปด้วยเช่นกันครับ