แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับขวากหนามที่ยังไม่จบสิ้น

27 เม.ย. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 14:43 น.
2.2 k

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับขวากหนามที่ยังไม่จบสิ้น : คอลัมน์บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3987

โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ดูเหมือนว่า จะราบรื่น และกำหนดไทม์ไลน์ในการแจกเงินชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้หลังจากสามารถหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการได้ครบ 5 แสนล้านบาท 

โดยจะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท การเพิ่มวงเงินรายจ่ายในงบประมาณปี 2568  อีก 152,700 ล้านบาท และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 172,300 ล้านบาท พร้อมกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการไป เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

 

แม้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมจากการติติงจากนักกฎหมาย รวมถึงนักวิชาการว่า การใช้เงินของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จะขัดกับพ.ร.บ.การจัดตั้ง ธ.ก.ส. พ.ศ.2509 หรือไม่

แต่รัฐบาลก็ออกมายืนยันได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เพราะเป็นการแจกเงินในส่วนที่เป็นเกษตรกร 17 ล้านคน ซึ่งภารกิจหลักของ ธ.ก.ส. ก็เป็นสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลอยู่แล้ว 

แต่กระดูกชิ้นใหญ่กลับเป็นเอกสารลับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลงนามโดยผู้ว่าการ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ส่งถึง ครม. เตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ที่อาจจะกระทบการคลังระยะยาว ซึ่งหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้

ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ประเมินของ Moody’s ที่กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal ซึ่งเป็น Rating ปัจจุบันของไทยว่า ไม่ควรเกิน 11% หากต้องกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท สัดส่วนก็จะสูงกว่า

ขณะเดียวกัน การใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูง ยังทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาล ลดลง และ มีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน

ที่สำคัญคือ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ระบุว่า จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ 

นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลจะเริ่มแจกเงินดิจิทัลในไตรมาส 4 ปีนี้ รัฐบาลจะต้องกู้เงินจากตลาดเงินสูงเกือบ 1 ล้านล้านทีเดียว ทั้งการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบ 67 จำนวน 6.93 แสนล้านบาท ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2567 และกู้ชดเชยในงบประมาณ ปี 2568 อีก 1.5-2 แสนล้านบาท  

ยังไม่นับรวมกับที่ ธ.ก.ส. ต้องกู้เงินอีก 1.72 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการด้วย 

หากเป็นเช่นนั้น อาจจะมีปัญหา กับ สภาพคล่องในระบบที่มีการประเมินกันแล้วว่า ปีนี้เอกชนเองก็จะมีการออกหุ้นกู้ราว 1 ล้านล้านบาทเช่นกัน