การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ปรับอย่างไรให้ไม่น้อยจนเกินไป

14 ธ.ค. 2566 | 05:00 น.

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ปรับอย่างไรให้ไม่น้อยจนเกินไป โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท จนเกิดเสียงวิจารณ์ว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นนั้นแทบจะเอามาใช้ทำอะไรไม่ได้มากในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากย้อนกลับไปดูการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอดีตก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทันต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างน้อยนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยในช่วงระหว่างปี 2544-2556 พบว่า การเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำ (เส้นแดง) อยู่ต่ำกว่าการเติบโตของ GDP (สีน้ำเงิน) มาโดยตลอด และการปรับสมดุลของค่าจ้างขั้นต่ำ ได้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี 2555 ที่เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดมาที่ 300 บาทต่อวัน

ในช่วงระหว่างปี 2556-2565 ก็พบประเด็นที่คล้ายคลึงกัน คือ การเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำ (สีเหลือง) จะอยู่ต่ำกว่าผลรวมของผลิตภาพแรงงานและราคา (สีเทา) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกัน

ที่มา : TDRI

ที่มา : TDRI

การเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำที่ช้ากว่าเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างน้อยใน 2 รูปแบบ กล่าวคือ

1. หากพิจารณาว่าการเติบโตของเศรษฐกิจก็ดี หรือการเติบโตของผลรวมของผลิตภาพแรงงานและราคาก็ดี คือ มูลค่าผลผลิตทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นของแต่ละปี จะพบว่า การแบ่งปันให้กับแรงงานที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ จะเป็นการให้ผลตอบแทนกับ “นายทุน” ในระดับที่สูงกว่า “แรงงาน” ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม

2. การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำที่ช้ากว่าเศรษฐกิจ ทำให้เกิด “โอกาส” ของฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงกลไกค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อยกระดับให้ค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทำให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง เช่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2555 การโฆษณาหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 ที่จะขึ้นค่าแรงเป็น 425 บาท และการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่จะเพิ่มค่าแรงเป็น 400-600 บาทต่อวัน

ซึ่งในแง่นี้ ผลเสียที่เกิดขึ้นจะอยู่ในรูปของการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สม่ำเสมอ มีการกระโดดขึ้นมากตามการหาเสียงของฝ่ายการเมือง จนทำให้ธุรกิจสามารถวางแผนในการดำเนินธุรกิจได้ยาก เมื่อเทียบกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมแบบสม่ำเสมอทุกๆ ปี

ในประเด็นถัดมาก็คือ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับที่ต่ำกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ?

ก่อนอื่นต้องอธิบายกลไกการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเสียก่อนว่า มีกลไกที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ 1. สูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอาศัยหลักวิชาการในการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม และ 2. การใช้ผลการคำนวณในส่วนที่ 1 เป็นตัวตั้งต้นในวงเจรจาต่อรองของไตรภาคีเพื่อเคาะค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในแต่ละปี

ในมุมมองของผู้เขียนเอง มองว่าสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้ในปัจจุบันอาจจะมีส่วนทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับที่ต่ำกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยสูตรการคำนวณที่ใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ = อัตราค่าจ้างในปัจจุบัน × (1 + L รายจังหวัด × Prod รายจังหวัด + CPI) + ตัวแปรเชิงคุณภาพตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 โดยที่

  • L รายจังหวัด คือ อัตราสมทบของแรงงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนผลตอบแทนแรงงานในผลผลิตรวมคิดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (เช่น กทม. จะมีค่าประมาณ 0.32)
  • Prod รายจังหวัด คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานรายจังหวัด คิดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
  • CPI คือ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง

จากสูตรคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่า แรงงานจะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ผลรวมของผลิตภาพแรงงานและราคา เนื่องจากในสูตรการคำนวณจะมี “ตัวถ่วง” คือ L รายจังหวัด ที่มีค่าประมาณ 0.3 ซึ่งถ้าค่า L ถูกกำหนดให้เท่ากับ 1 จะพบว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเท่ากับ

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ = อัตราค่าจ้างในปัจจุบัน × (1 + Prod รายจังหวัด + CPI) + ตัวแปรเชิงคุณภาพตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87

ซึ่งสะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างในปัจจุบันจะเท่ากับ 1 + Prod รายจังหวัด + CPI หรือเทียบเท่ากับผลรวมของผลิตภาพแรงงานและราคา ซึ่งแปลว่าค่าแรงขั้นต่ำในสูตรนี้จะตามทันการพัฒนาเศรษฐกิจนั่นเอง

นั่นคือ สูตรค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีการใส่ “ตัวถ่วง” ที่ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำจะเติบโตน้อยกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการเข้ามาแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการยกนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียง

นอกจากนี้ หากพิจารณากลไกในส่วนที่ 2 หรือ กลไกไตรภาคีในการพิจารณาความเหมาะสมของค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้เขียนพบว่าในปัจจุบันกลไกไตรภาคียังคงให้ความสำคัญกับ “สูตร” การคำนวณข้างต้นมากจนเกินไป เช่น เป็นการถกเถียงกันเพื่อเลือกการใช้สูตรที่เหมาะสม เช่น ควรคิดค่าเฉลี่ย 2 ปี หรือ 5 ปีย้อนหลัง มากกว่าการพิจารณาในเชิงคุณภาพว่าค่าแรงขั้นต่ำมีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของแรงงาน และเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจมากน้อยเพียงใด (โดยแต่ละฝ่ายควรจะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาวางเพื่อร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม) ทำให้ผลที่ตามมาก็คือ ผลลัพธ์จากกลไกไตรภาคีจะมีความยึดโยงกับผลการคำนวณจากสูตรคำนวณมากจนเกินไป จึงอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับที่ต่ำกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั่นเอง

ในประเด็นสุดท้าย คือ แล้ว สูตรค่าจ้างที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร?

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การตัดตัวถ่วง L ออกจากสมการเลยจะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำสามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น หากแต่ในแบบจำลองทางวิชาการนั้น มักจะตั้งข้อสมมติว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเพียงกลุ่มเดียว และแรงงานมีประเภทเดียว ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว จะพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ในขณะที่แต่ละกิจกรรมก็มีทั้งธุรกิจที่เป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ดำเนินกิจการอยู่ด้วยกัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำในโลกแห่งความเป็นจริง จึงต้องพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่มุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย เช่น บางกิจกรรมจะเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน หรือ บางพื้นที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มากจนเกินไปหรือไม่

ในแง่นี้ หากจะผสมผสานการใช้ “สูตร” คำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ร่วมกับกลไกไตรภาคีที่มีประสิทธิภาพ อาจจะใช้สูตรการคำนวณที่ตัดตัวถ่วงออกเพื่อให้เห็นค่ากลางที่นำมาพิจารณาเป็นตัวตั้งต้น ก่อนที่จะใช้กลไกการพิจารณาของไตรภาคีจะเข้ามาเสริมในแง่มุมของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วต่อรองเพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถไปต่อได้ โดยบางส่วนอาจจะมีทางออก คือ การปรับเพิ่มหรือลดค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวม ในขณะที่บางส่วนอาจจะเสนอให้ภาครัฐเข้ามามีมาตรการช่วยเหลือในการปรับตัวเป็นการเฉพาะตามแต่ความต้องการของแต่ละกิจกรรม

การดำเนินการในรูปแบบนี้น่าจะทำให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และช่วยลดปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ดีขึ้น

หมายเหตุ: สำหรับตัวแปรเชิงคุณภาพตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 87 เป็นตัวแปรปรับเพิ่มลดตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นของธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งมักจะอยู่ภายในกรอบ +/- 3% จากผลการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้