การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม : กรณีศึกษา "น้องหยก"

24 มิ.ย. 2566 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 08:47 น.
2.8 k

ดราม่าในโรงเรียนได้เกิดขึ้น เมื่อ "น้องหยก" ต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียน ชวนฟังมุมมองของ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI

ผู้เขียนได้ติดตามมุมมองจากหลายภาคส่วนในกรณีของน้องหยก ซึ่งถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องของการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม หากท่านผู้อ่านยังไม่ได้ติดตามเรื่องมาก่อน ผู้เขียนขออนุญาตสรุปเหตุการณ์คร่าวๆ ดังนี้

น้องหยก เด็กสาววัย 14-15 ปี เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ได้ออกมาประท้วงกฎระเบียบของโรงเรียน ในหลายเรื่อง เช่น การบังคับแต่งกายชุดนักเรียน ระเบียบเรื่องทรงผม การเข้าเรียนตามเวลา การขาดอิสระในการเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองเห็นว่ามีประโยชน์ รวมทั้งการขาดอิสระในการเลือกเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน

ดราม่าในโรงเรียนได้เกิดขึ้น เมื่อน้องหยกต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียนเพื่อเข้าเรียนเนื่องจากมาสาย และโรงเรียนไม่ยอมเปิดประตู่ให้ ซึ่งในที่สุด ทางโรงเรียนได้ (อ้าง) ปฏิเสธการเข้าเรียนต่อของน้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีผู้ปกครองที่แท้จริงมามอบตัว ในขณะที่ทางฝ่ายของน้องหยกก็ได้ยื่นยันว่าตนเองได้มีผู้ปกครองแทนมามอบตัวแล้ว ได้มีการจ่ายค่าเทอมแล้วและมีตัวแทนคณะกรรมการสิทธิได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยจนได้ข้อสรุปกันแล้วตั้งแต่ต้น

มุมมองทางสังคมต่อพฤติกรรมของโรงเรียนและของน้องหยก มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการบังคับแต่งชุดนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งมีความเห็นที่หลากหลายต่างกัน

ฝ่ายที่เห็นด้วย มีทั้งการยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลที่การแต่งกายเป็นเสรีภาพส่วนตัว การออกจากข้อบังคับจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น กลุ่มที่ยึดหลักการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์มองว่าเป็นการดื้อแพ่งเพื่อต่อต้านกฎระเบียบที่อยุติธรรม เป็นความผิดปกติที่คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นการต่อสู้ที่จะนำไปสู่การร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่ดีกว่าเดิม

สำหรับมุมมองทางด้านจิตวิทยาเด็กมองพฤติกรรมของน้องหยกว่าเป็นผลมาจากการกดทับทางสังคม ทำให้การแสดงออกอาจจะมีความรุนแรงไปบ้าง แต่ทางโรงเรียนก็มีหน้าที่ที่จะดูแลเด็กให้เติบโตขึ้นให้ได้

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของน้องหยกบางส่วนจะอ้างคุณค่าในทางวัฒนธรรม โดยมองว่าการแต่งชุดนักเรียนเป็นตัวอย่างของคุณค่าที่ทำหน้าที่ในฐานะการช่วยจรรโลงโลก จรรโลงศีลธรรม ในขณะที่กลุ่มที่เน้นในเรื่องของอัตลักษณ์ของกลุ่ม มองว่าสังคมจะมีการแบ่งกลุ่มสังคมย่อยๆ ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว การมีสิทธิและเสรีภาพจึงต้องเคารพในกลุ่มย่อยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่มด้วย การที่แต่ละโรงเรียนมีกฎระเบียบ มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันจึงเป็นสังคมเฉพาะที่นักเรียนแต่ละคนจะมีทางเลือกที่จะเข้าสังคมที่ตนเองมีความสบายใจที่จะเข้าร่วม

ท้ายที่สุด ในมุมมองบางส่วนอาจจะไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เช่น มุมมองในเชิงความเหลื่อมล้ำที่พบว่า การแต่งชุดนักเรียนอาจจะสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าชุดนักเรียนราคาแพงทำให้เด็กบางคนอาจจะไม่สามารถซื้อชุดนักเรียนได้ จนต้องหลุดจากระบบการศึกษา ในขณะที่การแต่งชุดไปรเวท ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น เด็กที่ฐานะดีสามารถแต่งตัวโดยใช้แบรนด์หรูๆ เอามาใส่อวดกันกลายเป็นการแบ่งชนชั้นในโรงเรียนก็ได้ ท้ายที่สุด ก็มีกลุ่มที่เสนอให้ใช้หลักการประชาธิปไตย คือ การให้นักเรียนโหวตว่าแต่ละโรงเรียนอยากจะทำอะไรก็ให้เลือกไปตามนั้น

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งยึดโยงกับหลักการทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก จะมองว่าการต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย นั่นก็คือ

1) ปัญหาที่เกิดขึ้นควรจะต้องเป็นปัญหาของคนหมู่มาก ไม่ใช่แค่ความเห็นของคนไม่กี่คนในโรงเรียน 2) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเกิดประโยชน์กับสังคมในภาพรวม นั่นก็คือ ต้องพิจารณาความเหมาะสมของผลกระทบต่อนักเรียนทุกคนในโรงงเรียน ซึ่งอาจจะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบดังกล่าว

และ 3) การเปลี่ยนแปลงต้องมีความเร่งด่วน และ/หรือ มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ หมายถึง หากจัดลำดับความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ควรจะต้องมีอันดับความสำคัญที่สูงมากเพียงพอ หรือเป็นประเด็นที่เร่งด่วนมีความจำเป็น จึงจะถือได้ว่าเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่เหมาะสม

ท้ายที่สุด ในขณะที่สังคมให้ความสำคัญกับกรณีของน้องหยกเป็นพิเศษ มีทั้งความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐที่รักษาการ ฝ่ายการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ เช่น นักวิชาการ นักคิด สื่อ ต่างก็ให้ความสนใจกันอย่างล้มหลามนั้น เด็กไทยจำนวนมากกว่าล้านคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว และยังคงได้รับความสนใจน้อยมาก

ผู้เขียนอยากเห็นทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับประเด็นของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้มากยิ่งขึ้นและอย่างเท่าเทียมกันในทุกๆกรณี